มะเร็งตับ อีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในผู้ชาย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
11-มิ.ย.-2566
“มะเร็งตับ” เป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่คร่าชีวิตเป็นอันดับ 1 ของ “โรคมะเร็งในผู้ชาย” เพราะมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ ก็อาจจะลุกลามไประยะสุดท้ายแล้ว หรือยากเกินที่จะรักษาให้หายขาด เเละอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ตรวจก่อน รักษาก่อน ลดโอกาสเสี่ยงให้ตับของคุณห่างไกลจากมะเร็งตับ


มะเร็งตับมีกี่ระยะ
  • มะเร็งตับระยะเเรก (Early) จะไม่แสดงอาการใดๆ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ท้องอืด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย จนกว่าก้อนมะเร็งจะโตขึ้นเรื่อยๆ
  • มะเร็งตับระยะที่ 2 (Intermediate) จะเริ่มมีก้อนเนื้อ 1 ก้อน ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายได้
  • มะเร็งตับระยะที่ 3 (Advanced) จะมีก้อนเนื้อไม่เกิน3 ก้อน ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องรีบตรวจรักษา เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังระยะที่ 4 หรือ 5 เพราะอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้
  • มะเร็งตับระยะที่ 4 (Terminal) ก้อนเนื้อมะเร็งเริ่มโตมาก และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ ต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปยังเส้นเลือดอื่นๆ และลุกลามไปที่อวัยวะต่างๆในร่างกาย
  • มะเร็งตับระยะสุดท้าย เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรมมาก หรือตับทำงานแย่ลงมาก

สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ โดยไม่รู้ตัว
มะเร็งตับเกิดจากการกลายพันธุ์ หรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อนแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 100 เท่า หรือมีความเสี่ยงมากขึ้นอีกหากมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
  • ดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมาก หรือดื่มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับตามมา
  • ภาวะไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานเข้าไปมาใช้ได้หมด และสะสมเป็นไขมันในรูปไตรกลีเซอไรด์ในตับ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้
  • การได้รับสารพิษบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีสารอะฟลาทอกซิน

อาการเตือนที่ต้องรู้ก่อนเป็น มะเร็งตับ

  • ปวดท้องบริเวณข้างขวาแถวชายโครงส่วนบนเป็นประจำ
  • จุกแน่น ท้องผูก ท้องโตขึ้น
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ผิดปกติ

การรักษามะเร็งตับ
หากอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ก็อาจจะใช้วิธีการผ่าตัดหรือการปลูกถ่ายตับแต่ในกรีณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่หรือก้อนเนื้อมีจำนวน3ก้อนขึ้นไปอาจต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางเส้นเลือดหรือการรับประทานเคมีบำบัด ร่วมกับการรักษาตามอาการในผู้ป่วยระยะท้ายๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการรุนแรง


มะเร็งตับ ป้องกันได้ ด้วยตัวคุณเอง

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็ง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน โดยเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ และลดปริมาณไขมันที่บริโภคในแต่ละวัน
  • การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นทารก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันกับคู่นอนที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกันกับผู้อื่น เช่น เข็มฉีดยา กรรไกรตัดเล็บ

เพราะฉะนั้น การป้องกันให้ห่างจากโรคมะเร็งตับก็คงต้องเริ่มจากการหมั่นเช็กสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับอย่างน้อยปีละ1ครั้ง โดยไม่ต้องยึดติดว่าตัวเองไม่ได้เสี่ยงเป็นมะเร็งตับ หรือยังไม่มีอาการเตือนที่อาจบ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการเซฟร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02- 514-4141 ต่อ 1210, 1211
Line : Paolochokchai4