ในปัจจุบันพบผู้คนที่มีอาการปวดบริเวณต้นคอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ผู้คนมักจะก้มคอใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยบริเวณต้นคอขึ้นมาได้
หากอาการปวดกินเวลานาน ไม่ควรนิ่งนอนใจ
อาการปวดกระดูกต้นคอ เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อคอที่หลายคนสามารถเป็นได้บ่อยๆ โดยส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและสามารถทุเลาลงภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าอาการปวดต้นคอนั้นกินเวลานานติดต่อกันมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา เพราะอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่กระดูกคอเสื่อมก็เป็นได้
ภัยเงียบที่แฝงมากับอาการปวด
กระดูกต้นคอ หรือข้อกระดูกต่างๆ ย่อมมีความเสื่อมตามวัยที่มากขึ้น และภาวะกระดูกคอเสื่อมจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีปัจจัยหลายประการมาประกอบ เช่น ขนาดของน้ำหนักตัว ภารกิจประจำวัน ภาวะหลวมคลอนของข้อกระดูกต่างๆ เป็นต้น อาการกระดูกคอเสื่อมนั้นเกิดจากการที่หินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกและเอ็นไปกดเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดคอร้าว มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง
การป้องกันอาการปวดต้นคอและกระดูกคอเสื่อม
ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดต้นคอมักมีสาเหตุมาจากการจัดวางท่าทางไม่ถูกต้อง รวมทั้งภาวะกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งวิธีป้องกันอาการดังกล่าวสามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
- จัดท่าทางให้ถูกต้อง เมื่อยืนหรือนั่งควรให้ไหล่ตั้งตรงอยู่ในแนวเดียวกับสะโพก เช่นเดียวกับใบหูที่อยู่เหนือไหล่ในแนวเดียวกัน
- ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ไม่ควรนั่งทำงานท่าเดิมนานเกินไป
- จัดโต๊ะทำงาน โดยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และควรใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน
- ไม่ควรคุยโทรศัพท์โดยแนบไว้ระหว่างไหล่กับหู ควรเปิดลำโพงหรือใช้หูฟังในการคุยโทรศัพท์แทน
- ไม่ควรแบกหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ ไว้บนไหล่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- ควรนอนให้ศีรษะและคออยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย โดยใช้หมอนเล็กๆ รองคอไว้ นอนราบให้หลังติดที่นอนและใช้หมอนรองต้นขาให้สูงขึ้น
ทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงโรคกระดูกคอเสื่อม คือการป้องกันเสียตั้งแต่ต้น โดยหมั่นบริหารร่างกายให้มีคอที่แข็งแรง เพื่อลดความตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอ ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพราะถึงแม้ว่าโรคกระดูกคอเสื่อมจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัย แต่เราก็อาจลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการดูแลตัวเอง
สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105