วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด- 12 ปีที่พ่อแม่ต้องรู้
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
24-ส.ค.-2566
เพราะร่างกายในวัยแรกเกิดนั้นอ่อนแอ เสี่ยงกับการติดเชื้อโรคได้ง่าย และสภาพแวดล้อม ที่เชื้อโรคหลาย ๆ ชนิด สามารถติดต่อสู่เด็กเล็ก ๆ ได้ง่าย การฉีดวัคซีนของเด็กวัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี นับว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

การเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กเพื่อป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งวัคซีนในแต่ละชนิดนั้นสร้างมาจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ผ่านกรรมวิธีทางการแพทย์ จนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว ซึ่งวัคซีนเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันโรคร้ายต่างๆ


กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กในวัยต่างๆ

การฉีดวัคซีนของเด็กนั้น จะต้องให้รับวัคซีนตามแบบแผน ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยสำนักโรคติดต่อมีการสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนได้ฟรีสำหรับเด็กทุกคนในปี 2561 จำนวน 9 ชนิด ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ถึง 11 โรค คือ วัคซีนวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคบาดทะยัก วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคหัดเยอรมัน วัคซีนโรคคางทูม วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนโรคเอชพีวี





ต้องฉีดวัคซีนอะไรในแต่ละช่วงเดือน

อายุวัคซีนหลักวัคซีนเสริม
แรกเกิด
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค บีซีจี (BCG)
  • วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี เข็มที่ 1 (HBV 1)
 
1 เดือน
  • วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี เข็มที่ 2 (HBV 2)
 
2 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 1 (DTwP-HB1)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 1 (OPV 1 หรือ IPV 1)
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 1 (DTaP 1)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 1 (IPV 1)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 1 influenza type B (Hib 1)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต เข็ม 1 (PCV 1)
  • วัคซีนโรต้า เข็ม 1 (Rota 1)
4 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 2 (DTwP-HB2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 2 (OPV 1 หรือ IPV 1)
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 2 (DTaP 2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 2 (IPV 2)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 2 influenza type B (Hib 2)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต เข็ม 2 (PCV 2)
  • วัคซีนโรต้า เข็ม 2 (Rota 2)
6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เข็มที่ 3 (DTwP-HB3)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน ครั้งที่ 3 (OPV 3)
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ เข็มที่ 3 (DTaP 3)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็ม 3 (IPV 3)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 3 influenza type B (Hib 3)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็ม 3 (PCV 3)
  • วัคซีนโรต้า เข็ม 3 (Rota 3)
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ปีละครั้งช่วงอายุ 6 เดือน-18 ปี เน้นช่วงอายุ 6-24 เดือน ปีแรกฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
9 - 12 เดือน
  • วัคซีนป้องกันหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม เข็มที่ 1 (MMR 1)
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ เจ อี (Live JE) เข็มที่ 1 และ 2
9 - 18 เดือน
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่ 1 และ 2 (ฉีดห่างกัน 1-4 สัปดาห์) (MBV JE 1, JE 2 หรือ Live JE 1)
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่  1 (Live JE 1) เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 อีก 3-12 เดือนต่อมา
12 - 18 เดือน 
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ (HAV) ให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 1 (VZV 1) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 1 (MMRV 1)
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิด คอนจูเกต เข็ม 4 (PCV 4)
18 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น ครั้งที่ 1 (DTwP กระตุ้น 1)(OPV กระตุ้น 1)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกินกระตุ้น ครั้งที่ 1
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรนชนิดไร้เซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 1  (DTaP กระตุ้น 1) วัคซีนป้องกันเชื้อ เข็ม 4 H. influenza type B  (Hib 4)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 4 (IPV 4)
2 - 2.5 ปี
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็มที่ 3 (MBV JE 3 หรือ Live JE 2)
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เจ อี เข็ม 2(JE 2)
2.5 ปี
  • วัคซีนป้องกันหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม เข็มที่ 2 (MMR 2)
 
4 ปี
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTwP กระตุ้น 2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน กระตุ้น ครั้งที่ 2 (OPV กระตุ้น 2)
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2(DTaP กระตุ้น 2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 5 (IPV 5)
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 2 (VZV 2) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 2(MMRV 2)

ทั้งนี้ หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ กลับไปดูแลลูกน้อยที่บ้านแล้ว ควรเข้ารับฉีดวัคซีนตามนัดหมาย หรือให้เข้ารับวัคซีนพื้นฐานตามช่วงอายุของเด็ก โดยในบางโรงพยาบาล คุณหมอจะแนะนำ และพิจารณาให้เด็กๆ ได้รับวัคซีนเสริมจากปกติอีกด้วย การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กจะมีโปรแกรมที่ควรได้รับจนถึงเป็นวัยรุ่น ดังนี้


วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม (ไอพีดี IPD)
โรคไอพีดี คือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกล้ำ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เชื้อนิวโมคอคคัสก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ และก่อให้เกิดการติดเชื้อรุกล้ำรุนแรง ได้แก่ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระดูกและข้อ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี 2 ชนิด คือ ชนิด 10 สายพันธุ์ และ 13 สายพันธุ์ โดยให้ 4 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือนและฉีดกระตุ้นที่อายุ 12-15 เดือน

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza Virus) มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ ชนิด A, B และ C มีระยะฟักตัว 1-4 วัน ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบน (จมูกและคอ) และอาจแพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลมและปอด) โดยมักมีไข้สูง ปวดเมื่อย และอ่อนเพลียมากในเด็กเล็ก เด็กที่มีภูมิต้านทานไม่สมบูรณ์อาจมีโรคแทรกซ้อนได้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าฤดูที่มีการระบาด (ฤดูฝนและฤดูหนาว) และฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง และป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปี ควรฉีดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสโรคอีสุกอีใส
เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-Zoster Virus (VZV) ทำให้มีอาการไข้ ผื่นหลายระยะขึ้นบริเวณผิวหนัง ระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แพร่กระจายผ่าน 1. ทางลมหายใจ ไอ จาม และการหรือสัมผัสรอยโรคบริเวณผิวหนัง จึงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ระบาดได้เร็ว หรือ 2.ละอองฝอยจากลำคอ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กโตที่ไปโรงเรียน การติดเชื้อในเด็กทารกอายุน้อย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบและสมองอักเสบได้ โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยวัคซีน สามารถให้ได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้ใหญ่ ภายหลังการให้วัคซีนอีสุกอีใสเมื่อครบ 2 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันสูงสุดร้อยละ 98 ต่อการติดเชื้ออีสุกอีใส และร้อยละ 99 ต่อภาวะรุนแรงของโรคอีสุกอีใส





วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิวบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านมในหญิงไทย และเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีน เป็นแนวทางการป้องกันโรคได้ดีที่สุด โดยควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แนะนำให้ฉีดในหญิงและชายอายุ 9 - 26 ปี ข้อมูลในเด็กผู้ชายนั้นสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนักได้ด้วย ในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ
ไวรัสตับอักเสบ เอ คือ โรคที่มีการอักเสบของตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (HAV) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสกับสิ่งสกปรกและอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผู้ที่ติดเชื้อ และจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ผิดสุขอนามัย สาเหตุทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เด็กมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ตัวเหลือง อ่อนเพลีย การติดเชื้ออาจไม่มีอาการ อาการไม่มากจนถึงรุนแรงได้ ไวรัสตับอักเสบเอ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน


วัคซีนเสริมจำนวนช่วงอายุ
วัคซีนไอพีดี (IPD)4 ครั้ง2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นที่อายุ 12-15 เดือน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส2 ครั้ง12-18 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 4-6 ปี
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก2 ครั้งอายุ 9-15 ปี ครั้งที่ 2 หลังจากเข็มแรก 6-12
วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอ2 ครั้ง1 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 2 ห่างกัน 6-12 เดือน

การฉีดวัคซีนเสริมเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อลดความเจ็บป่วยต่อการเกิดโรคต่างๆ เด็กจะได้มีสุขภาพดี แข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ การรับวัคซีนเสริมในแต่ละชนิดนั้นควรฉีดเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยสามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงความเสี่ยงของเด็กว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หรือมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเน้นเฉพาะโรคใดเป็นพิเศษ

คลินิกเด็ก 24 ชม. โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
02 818 9000  ต่อ 113