มะเร็ง คือโรคชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะของการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเซลล์เหล่านี้สามารถลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่นเจริญเติบโตโดยตรงเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียง (Invasion) หรือการอพยพเคลื่อนย้ายเซลล์ไปยังตำแหน่งที่ไกลๆ
(Metastasis) สำหรับผู้หญิงแล้วนอกเหนือจากมะเร็งทั่วไป ยังต้องให้ความสำคัญกับมะเร็งทางนรีเวช มะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับโรคทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูกเป็นภัยร้ายที่อาจแฝงตัวกับผู้หญิงได้โดยไม่รู้ และกว่าจะทราบเมื่อมีอาการของมะเร็งมักจะเป็นมากแล้ว การป้องกันให้ชีวิตห่างจากมะเร็งทางนรีเวชสามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยการตรวจคัดกรอง
1. มะเร็งปากมดลูก
แนวทางการป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ก่อนลุกลามเป็นเซลล์มะเร็ง หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear)แพทย์จะใช้ไม้พายเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ก่อนนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีที่ใช้มาเป็นเวลานาน
- ตินเพร็พ (ThinPrep)พัฒนามาจากการตรวจด้วยวิธีแปปเสมียร์ มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น โดยเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ จากนั้นใส่ลงในขวดน้ำยาตินแพร็พ ก่อนนำส่งเพื่อตรวจผลในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA ด้วย Thin Prep Plus Cervista HPV DNA Testingเป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับการเจาะลึกขึ้นว่ามีการติดเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 หรือไม่ จะช่วยบอกความเสี่ยงต่อการมีรอยโรคแอบแฝงโดยที่ผล Thin Prep ปกติ
การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี เป็นการป้องกันที่สาเหตุก่อนเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเอชพีวีสายพันธุ์ 16 เป็นสาเหตุสูงสุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 18 พบรองลงมา
มะเร็งมดลูกมะเร็งมดลูกสามารถรักษาได้หากพบตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งในระยะแรกๆ ซึ่งพบมากในคนอ้วน และสตรีที่ไม่มีบุตร ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูกนั้น ทำโดย
- การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก
- การตรวจภายใน เพื่อดูขนาดและรูปร่างของมดลูก
- การตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear)
2.มะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 เพราะรังไข่เป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนข้างลึก ไม่มีวิธีการตรวจหามะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้นที่ชัดเจน อาการบ่งชี้ระยะเริ่มต้นไม่แน่ชัด อาการจะคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ สิ่งที่สามารถทำได้ เบื้องต้นเป็นการตรวจหาสาร CA125 ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากเยื่อบุอวัยวะในร่างกายเรา เช่นตับอ่อน รวมถึงที่รังไข่ด้วย โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 0-35 ยูนิต ต่อมิลลิลิตร หากค่า CA125 มีระดับสูงผิดปกติ อาจจะเกิดได้จากการเป็นมะเร็งรังไข่ หรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน การตรวจภายในประจำปี การตรวจอัลตราซาวด์ก็จะช่วยให้ตรวจพบได้ หากแพทย์พบว่ามีรังไข่โตขึ้นและสงสัย แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด
3.มะเร็งเต้านม
เป็นมะเร็งที่ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นมากขึ้นรองมาจากมะเร็งปากมดลูก มีปัจจัยร่วมกันหลายด้าน ทั้งเรื่องของพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาการการกิน และฮอร์โมนเพศหญิง เป็นต้น การตรวจคัดกรองสามารถทำได้โดย
- การตรวจเต้านมด้วยตัวเองควรจะตรวจอย่างน้อยเดือนละครั้ง ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือหลังจากประจำเดือนหมด
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์ ควรตรวจตั้งแต่อายุ20ขึ้นไปโดยตรวจทุก 3 ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีควรพบแพทย์ตรวจเช็คทุกปี และควรจะทำควบคู่กับการทำ Mammogram
- การตรวจด้วยเครื่อง Mammogram สามารถตรวจพบก้อนได้ก่อน จัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรอง
มะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงมีค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้หญิงจึงควรเปลี่ยนทัศนคติความคิดเกี่ยวกับการตรวจภายในเสียใหม่ อย่ากลัว อย่าอายที่จะเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงมะเร็งทางนรีเวชเป็นประจำทุกปี เพราะอาจเสียโอกาสที่จะได้พบโรคก่อนกลายเป็นมะเร็ง หรือในระยะเริ่มแรก ซึ่งโรคที่แอบแฝงตัวอยู่อาจลุกลามจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านสุขภาพ
แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
อาคาร A ชั้น 1 โทร.02 818 9000 ต่อ 100