ออทิสติกเทียม...คืออะไร แท้เทียมอย่างไร? พ่อแม่ควรรู้
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
27-มิ.ย.-2566

ออทิสติกเทียม...คืออะไร แท้เทียมอย่างไร? พ่อแม่ควรรู้

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีภาวะ ‘ออทิสติกเทียม’ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะนี้จะไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติของสมอง แต่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

จริงๆ แล้วคำว่า ‘ออทิสติกเทียม’ ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์ แต่เป็นคำที่ใช้สื่อความหมายถึงเด็กที่มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก โดยเป็นไปในเชิงที่เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยจากการขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

 

ก่อนรู้จักออทิสติกเทียม ควรเข้าใจออทิสติกแท้ก่อน...

ออทิสติกแท้ ประกอบด้วยปัญหาด้านพัฒนาการ 3 ด้าน ต่อไปนี้

  1. พัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสาร เช่น พูดช้าหรือไม่พูด พูดภาษาแปลกๆ หรือภาษาต่างดาว ไม่ชี้สิ่งที่สนใจหรือสิ่งที่ต้องการ ทำตามคำสั่งไม่ได้
  2. พัฒนาการด้านสังคม เช่น เด็กเหมือนอยู่ในโลกของตนเอง สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจคนรอบข้าง เฉยเมย ไร้อารมณ์ ไม่มีอารมณ์ร่วมเวลาคนอื่นดีใจหรือเสียใจ
  3. พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำๆ เล่นไม่เป็น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น ชอบเล่นคนเดียว ไม่สนใจเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎกติกาได้

นอกจากนี้เด็กออทิสติกสามารถพบอาการอื่นๆ เช่น สมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง โขกศีรษะ สะบัดมือ หมุนตัว เป็นต้น

 


ทำความรู้จักกับ “ภาวะออทิสติกเทียม”

ภาวะออทิสติกเทียม เป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) ส่งผลให้เกิดความล่าช้าทางการสื่อสารและมีพัฒนาการทางสังคมที่ไม่ปกติ คือไม่พูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมักเกิดจากการที่ผู้เลี้ยงดูหรือพ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่พูดคุยหรือเล่นกับลูก และปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ หรือเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากเกินไป ซึ่งเหมือนการให้เด็กรับสารทางเดียว หรือที่เรียกว่า One-way Communication

 

จะแยกได้อย่างไรว่าอาการแบบไหนใช่ออทิสติกเทียม?

อาการของออทิสติกเทียมอาจมีบางอาการที่คล้ายกับออทิสติกแท้ และบางอาการในเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แต่เราสามารถสังเกต ‘อาการที่เข้าข่ายออทิสติกเทียม’ ได้ดังนี้

  • เด็กมีความสนใจกับเด็กวัยเดียวกันน้อย และเล่นกับผู้อื่นไม่เป็น เพราะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูหรือคนอื่น
  • เด็กจะไม่สบตาเวลาพูดคุย ไม่สนใจเวลาคนมาพูดด้วยตรงๆ ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น
  • เด็กไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ มักแสดงออกด้วยการโวยวาย และอาละวาดแทน
  • ไม่พูด พูดช้า พูดภาษาการ์ตูน หรือพูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย
  • เด็กจะติดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่น
  • เด็กมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน เช่น ร้องไห้งอแงโดยไม่มีเหตุผล หรือมีพฤติกรรมรุนแรงเวลาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ

ทั้งนี้ อาการของเด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียมจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี

 


รู้เร็วแก้ไขได้...เลี่ยงอย่างไรให้ห่างไกลออทิสติกเทียม

อาการของภาวะออทิสติกเทียมมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ดูแลอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอมากขึ้น อาการของภาวะออทิสติกเทียมจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับการเลี้ยงดู เช่น

  • งดสื่อหน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากอายุมากกว่า 2 ปี ให้ดูจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรเป็นการดูร่วมกันกับผู้ดูแล โดยแบ่งระยะเวลาการดูเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ต้องไม่ใช้จอเป็นเงื่อนไขให้เด็กทำอะไร เช่น ดูจอได้ระหว่างกินข้าว
  • เล่นกับเด็กให้มากขึ้น พูดคุยโต้ตอบแบบ Two-way Communication พูดคุยกับเด็กและเว้นจังหวะให้เด็กโต้ตอบ ฝึกให้เด็กมองหน้าสบตาเวลาพูดด้วย การเล่นบทบาทสมมติ เช่น เป็นคุณครู คุณหมอ เชฟ เป็นต้น ให้เด็กหมั่นออกกำลังกาย เช่น จักรยานขาไถ เล่นสนามเด็กเล่น
  • ฝึกกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
  • เปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม

ทั้งนี้ การส่งเสริมจากครอบครัวคือกำลังที่ดีและสำคัญที่สุดที่จะช่วยบำบัดรักษาพัฒนาการของเด็กให้ดีขึ้นได้จากภาวะออทิสติกเทียม ดังนั้น ผู้ดูแลควรใส่ใจและหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด ว่าเด็กมีอาการเสี่ยงของภาวะออทิสติกเทียมหรือไม่ เพราะเด็กออทิสติกเทียมจะหายได้ ถ้ารู้เร็ว ซึ่งการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูแค่ประมาณ 6 เดือนก็จะเห็นผล และถ้าทำอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะกลับมามีพัฒนาการและพฤติกรรมสมวัยได้

 

ดังนั้น หากพบเด็กมีอาการเข้าค่ายออทิสติกหรือออทิสติกเทียม ควรเข้ารับการตรวจโดยกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างตรงจุดโดยไม่ควรรอช้า เพราะการพบแพทย์เร็ว ตรวจไว การรักษาก็จะยิ่งได้ผลดี

บทความโดย

แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์ 

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn