อาการขี้ลืมอาจจะไม่ใช่อัลไซเมอร์เสมอไป
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
27-ก.พ.-2567
ขี้ลืม ≠ อัลไซเมอร์

          เดินทางออกจากบ้านมาเกือบจะขึ้นรถอยู่แล้ว เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าลืมโทรศัพท์เอาไว้ที่บ้าน หรือในบางครั้งที่เรากำลังเดินไปที่ไหนสักแห่ง แต่พอถึงที่หมายกลับนึกไม่ออกว่ามาเอาอะไร ความขี้หลงขี้ลืมแบบนี้ ก็สร้างความหงุดหงิดให้เราไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะมันทั้งเสียเวลาและเสียอารมณ์ที่จะต้องเดินกลับไปเอาของ หรือยืนระลึกความทรงจำว่านี่เรามาทำอะไรกันนะ จนเพื่อนๆ ต้องมีแซวเราบ้างแหละว่า นี่เป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า?

การขี้ลืม ไม่ได้เท่ากับ อัลไซเมอร์เสมอไป...
          อาการขี้ลืม (Forgetfulness) นั่นเป็นพฤติกรรมชั่วขณะหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด การทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ต้องจดจ่อกับอะไรหลายๆ อย่างทำให้สมองของเราหลุดโฟกัสบางอย่างไปชั่วขณะ รวมไปถึงการใช้ยาบางประเภทที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้สมรรถภาพในการทำงานของระบบประสาทในส่วนของการจดจำของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

แต่โรคอัลไซเมอร์นั้นแตกต่างออกไป...

          โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) หรือโรคความจำเสื่อมนั้นเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจำและความคิด มักพบในผู้สูงอายุ โดยอาการที่พบคือการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่รู้จักความผิดชอบหรือแยกผิด ถูก มีปัญหาในการใช้ภาษา หรือความสามารถที่เคยมีหายไป แนวโน้มของอาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป จนสูญเสียความทรงจำทั้งหมด ในปัจจุบันยังไม่มียาทางรักษาให้หายได้

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้นมีมากมาย อาทิ
  1. จากพันธุ์กรรม ในครอบครัวที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้
  2. ความผิดปกติของเซลล์ในสมอง
  3. พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อระบบสมอง เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ความถี่ในการฝึกทักษะการใช้ความคิดต่างๆ ทำให้เราไม่ได้บริหารสมอง
  4. อายุที่มากขึ้น ในปัจจุบันเราพบผู้สูงอายุมากถึง 25% ที่เป็นโรคความจำเสื่อม
  5. การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

อาการขี้ลืมไม่เท่ากับอัลไซเมอร์เสมอไป


ระยะของโรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
โดยปกติผู้ป่วยโรคนี้ เมื่อตรวจพบแล้วจะมีระยะเวลาอยู่ได้อีกประมาณ 2-10 ปี ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย อัตราความรุนแรงของโรค และโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยแบ่งช่วงของโรคเป็น 3 ระยะดังนี้
  •  ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีอาการถามเรื่องเดิมบ่อยๆ ถามทุกวัน หรือวันละหลายครั้ง มีความสับสนในกิจวัตรประจำวันของตนเอง เกิดความเครียดโดยไม่มีสาเหตุ
  •  ระยะที่ 2 มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอะไรที่เคยทำก็ไม่ทำแล้ว ไม่เข้าใจเหตุผลง่ายๆ , หลงทางบ่อยๆ ไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินไปที่ไหน , เกิดความคิดที่ไม่มีอยู่จริง เช่น คิดว่าตัวเองกำลังถูกตามล่า หรือ ต้องทำบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้
  •  ระยะที่ 3 อาการความจำเสื่อมเริ่มส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้น , ทานข้าวน้อยลง , ช่วยเหลือตัวเองในกิจกรรมที่ทำอยู่ประจำไม่ได้ , ควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
อย่างที่ทราบกันว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือชะลออาการให้รุนแรงน้อยลงได้ ดังนี้
  1.  ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างความวุ่นวาย ก้าวร้าวหรืออาละวาดจากความตั้งใจ แต่เกิดจากความผิดปกติทางสมองที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น
  2.  จัดห้องให้สะอาดและปลอดภัย หากผู้ป่วยนั้นพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ควรสร้างบรรยากาศให้สะอาดปลอดโปร่ง รวมไปถึงความสะอาดของเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของในบ้านที่ไม่ควรวางเอาไว้เกะกะ รวมถึงของมีคม อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจทำให้เกิดอันตราย ควรเก็บเอาไว้ให้พ้นสายตา
  3.  ติดป้ายหรือพกบัตรที่บอกที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือนำทางหรือผู้พบเห็นสามารถติดต่อกลับญาติที่ใกล้ชิดได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเดินหลงทาง หาทางกลับบ้านไม่ได้ ตอนที่ออกไปข้างนอก
  4.  ในรายที่อาการรุนแรง อาละวาด ไปจนถึงทำร้ายคนรอบข้างและตนเอง ควรพามาพบแพทย์ระบบประสาทและสมอง เพื่อให้ยาหรือรักษาบรรเทาอาการ ก่อนที่จะเกิดอันตรายที่ไม่คาดฝันได้

บทความโดย
นายแพทย์ธนาคาร ศรีพนม
แพทย์อายุรกรรมประสาทและสมอง
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน