มีภูมิคุ้มกันหรือยัง หลังฉีดวัคซีน COVID-19
โรงพยาบาลเปาโล
16-มิ.ย.-2564
ถึงวันนี้ หลายคนคงได้ฉีดวัคซีน COVID-19 กันไปบ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังจำเป็นต้องตั้งการ์ดให้สูงไว้เสมอ เพราะภูมิต้านทาน หรือ ‘แอนติบอดี’ ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้ไม่เกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทันที ทุกคนยังมีโอกาสติดเชื้อ หรือเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คนใกล้ตัวได้เสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

วัคซีน COVID-19 ในประเทศไทย


สำหรับในประเทศไทย ณ ขณะนี้ (พฤษภาคม 2564) มีการใช้วัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ ซึ่งใช้นวัตกรรมการผลิตที่ต่างกัน คือ
  • วัคซีน ‘ซิโนแวค’ (Sinovac) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ใช้นวัตกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมโดยนำเชื้อไวรัสมาเพาะเลี้ยงแล้วทำให้เชื้อตายลง เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนประเภทนี้ก็จะเกิดการตอบสนองแบบธรรมชาติ โดยมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านเชื้อขึ้นมา
  • วัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ (AstraZeneca) เป็นวัคซีนเวคเตอร์ ซึ่งใช้อะดิโนไวรัสโรคหวัดของชิมแพนซีมาดัดแปลง โดยใส่สารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนตุ่มหนาม (โปรตีน S) ของตัวไวรัสโควิด-19 ลงไป แล้วทำให้เป็นไวรัสอ่อนฤทธิ์ที่ไม่ก่อเกิดโรค เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิต้านทานต่อโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโควิด-19

หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นกับทุกคนหรือไม่

จากผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2564 มีข้อมูลว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน ‘ซิโนแวค’ หรือ ‘แอสตราเซเนกา’ นั้น ผู้ที่ได้รับจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก คือ เกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดยมีตัวเลขดังนี้
ผู้ที่ฉีดวัคซีน ‘ซิโนแวค’ ครบ 2 เข็มแล้ว เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี (ภูมิคุ้มกัน) ถึง 196 ใน 197 ราย หรือคิดเป็น 99.49% (มีเพียงรายเดียวในกลุ่มตัวอย่างนี้ที่ไม่เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น) นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณเฉลี่ยของภูมิคุ้มกันมีมากถึง 85.9 ยูนิต/มล. ซึ่งมากกว่าค่ากลางของภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นเองในกลุ่มของผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ ซึ่งอยู่ที่ 60.09 ยูนิต/มล.
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ เข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 71 ใน 73 ราย หรือคิดเป็น 97.26% และมีปริมาณเฉลี่ยของภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 47.5 ยูนิต/มล. ซึ่งน้อยกว่าปริมาณจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ที่ตัวเลขออกมาน้อยก็เป็นเพราะว่ายังไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่ฉีด ‘แอสตราเซเนกา’ เข็มที่ 2 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวมีกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างน้อย และแม้ตัวเลขที่ได้จะตอบข้อสงสัยได้ว่ามีการสร้างภูมิคุ้มขึ้นจริงหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับวัคซีน ‘ซิโนแวค’ แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับให้ครบ 2 โดส ก่อน จึงมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ
ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเบื้องต้นที่ประมาณการว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนั้นอาจช่วยให้เราปลอดภัยจากความรุนแรงของโรคได้ราว 6 เดือนหรือมากกว่านั้นเล็กน้อย เพราะยังไม่มีตัวเลขยืนยันแน่นอนว่าระดับภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน และปกติก็จะลดลงเรื่อยๆ หากภูมินั้นลดลงมากจนถึงจุดหนึ่งก็จำเป็นต้องมีการกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีนอีก เพราะเชื้อโควิด-19 นั้นมีระยะฟักตัวที่สั้น การจะป้องกันได้ดีต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของการกลายพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามผลของวัคซีนแต่ละชนิดต่อไปว่าได้ผลต่อเชื้อกลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน

การตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยชุดตรวจ COVID-19 rapid test antibody


ปัจจุบัน หากเราต้องการรู้ว่า ร่างกายมีภูมิต้านทานแล้วหรือยังนั้น สามารถเข้ารับการตรวจหาแอนติบอดี ด้วยชุดตรวจ COVID-19 rapid test antibody ซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้ารับตรวจได้ ไม่ว่าจะเป็น
  • ผู้ที่สงสัยว่าอาจเคยติดเชื้อโควิด-19 และต้องการรู้ว่ามีภูมิคุ้มกันหรือไม่
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้ว
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน ‘ซิโนแวค’ เข็มที่ 2 มาแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานเกิน 6 เดือนขึ้นไป และอยากรู้ว่าภูมิคุ้มกันยังคงอยู่ไหม
ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมการฉีดวัคซีน ‘แอสตราเซนิกา’ อาจไม่สามารถตรวจหาภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ได้ด้วยชุดตรวจ rapid test antibody ซึ่งคำตอบก็คือ... เป็นเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน
ก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่า เชื้อไวรัสจะมีโปรตีนอยู่หลายชนิด แต่ในไวรัสโควิด-19 มีโปรตีนสำคัญตัวหนึ่งที่มีหนามแหลม ซึ่งเรียกว่า Spike หรือ โปรตีน S อันเป็นโปรตีนที่ไวรัสใช้เป็นตัวจับกับโปรตีน ACE2 บนเซลล์ของมนุษย์ เพื่อทำการมุดเข้าไปฝังในเซลล์ นอกจากนี้ไวรัสโควิด-19 ก็ยังมีโปรตีนอีกตัวหนึ่ง คือ Nucleocapsid protein หรือ โปรตีน N ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่เซลล์
และเพราะเหตุที่วัคซีน ‘แอสตราเซนิกา’ เป็นวัคซีนแบบ Viral Vector ซึ่งวิธีการผลิต จะเป็นการเอาไวรัส Adeno หรือไวรัสโรคหวัดของชิมแพนซีมาดัดแปลง โดยใส่สารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนตุ่มหนาม (โปรตีน S) ของไวรัสโควิด-19 ลงไป เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนที่มีโปรตีน S ซึ่งถูกตัดต่อมาเพียงอย่างเดียว จึงกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีน S เท่านั้น ไม่ได้สร้างแอนติบอดีโปรตีน N ขึ้นมาด้วย แต่สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน ‘ซิโนแวค’ ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ของไวรัสโควิด-19 ทั้งตัว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันทั้งโปรตีน S ด้วย และโปรตีน N จึงสามารถตรวจพบแอนตี้บอดีได้ด้วยชุด rapid test antibody เหมือนกับการตรวจผู้ที่ติดเชื้อจากธรรมชาติ
สำหรับวัคซีนในกลุ่มที่ผลิตด้วยนวัตกรรม mRNA เช่น วัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ก็มีลักษณะคล้ายกันกับวัคซีน แอสตราเซนิกา เนื่องจากเป็นวัคซีนที่กำหนดการสร้างโปรตีน S เท่านั้น ร่างกายจึงสร้างเฉพาะแอนติบอดีต่อโปรตีน S เหมือนกัน
ดังนั้นการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่เกิดจากการได้รับวัคซีน จึงต้องเลือกชุดตรวจหรือวิธีการให้ถูกต้องกับวัคซีนที่ได้รับ และต้องตรวจหลังได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นในบางราย
ทั้งนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันนั้นก็จะลดลดเรื่อยๆ จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก และสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังคงประมาทไม่ได้ ยังต้องยึดหลักการป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุด นั่นคือการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกัน ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว