ตรวจความผิดปกติของเต้านม ด้วยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
13-ก.ค.-2566
การเจาะตรวจชิ้นเนื้อที่เต้านม เป็นการตรวจวินิจฉัยจากภาพทางอัลตร้าซาวน์ และแมมโมแกรม ซึ่งจะวิเคราะห์ลักษณะ ขอบเขต รูปทรงของก้อนหรือหินปูน โดยจะเจาะชิ้นเนื้อผ่านทางผิวหนัง เพื่อตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีความผิดปกติ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งไหม

วิธีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม
เป็นวีธีที่นิยม และได้มาตรฐาน เนื่องจาก แผลขนาดเล็ก ความแม่นยำสูง ซึ่งการเจาะชิ้นเนื้อจะใช้ภาพอัลตร้าซาวด์เป็นตัวบอกตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เช่น มะเร็ง เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง เพื่อส่งชิ้นเนื้อนั้นไปตรวจว่าเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้รู้ผลแน่ชัด และคลายกังวลว่าตนเองเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่ในบางกรณีที่เจาะตรวจชิ้นเนื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็งจริง ก็จะเริ่มวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม จะต้องทำในกรณีใด ?
การเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม จะมีความจำเป็นในกรณีที่ตรวจพบ ก้อนเนื้อ ถุงน้ำบางชนิด หรือหินปูนที่สงสัยว่าจะมีความเสี่ยงมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งเต้านมอาจมีอาการเตือนก่อน เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม เลือดออกบริเวณเต้านม หัวนมบุ๋ม มีแผลแตกที่เต้านม และผิวหนังที่เต้านมเริ่มยุบลง

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ว่าก้อนเนื้อที่ตรวจเจอจะเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ จึงทำให้การตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจกับคุณผู้หญิงว่าก้อนเนื้อที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่ รวมถึงการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มไม่ได้เพิ่มการแพร่กระจายของมะเร็ง ในรายที่สงสัยที่มีความผิดปกติ ซึ่งหากตรวจพบว่าก้อนเนื้อเป็นมะเร็ง ก็สามารถเริ่มรักษาได้เลย เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม สามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง ?
1.การเจาะตรวจด้วยเข็ม เป็นการดูดตรวจเซลล์ด้วยเข็มขนาดเล็ก ซึ่งวิธีนี้จะใช้เข็มฉีดยาเจาะดูดน้ำ หรือเซลล์ จากชิ้นเนื้อไปตรวจ
ข้อดี แผลขนาดเล็กรูขนาดเท่าเข็มเจาะเลือด รอยช้ำน้อย
ข้อเสีย ได้ปริมาณสิ่งส่งตรวจน้อย ความแม่นยำต่ำกว่า การวินิจฉัยจากการตรวจเซลล์ ไม่สามารถบอกชนิดได้

1.2 การเจาะชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ ซึ่งวิธีนี้จะใช้เข็มขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก เพื่อให้ได้ปริมาณชิ้นเนื้อที่มากกว่า
ข้อดี แผลขนาดเล็ก 1-2 มิลลิเมตร ความแม่นยำ  95-99% สามารถบอกชนิดของชิ้นเนื้อ
ข้อเสีย เป็นการวินิจฉัยชิ้นเนื้อ แต่ไม่ได้ตัดนำชิ้นเนื้อออก

1.3 การเจาะชิ้นเนื้อ ด้วยเข็มขนาดใหญ่ ร่วมกับดูด ด้วยเครื่องสุญญากาศ จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เป็นตัวกำหนดทิศทางและตำแหน่ง เพื่อตรวจสอบว่าก้อนสามารถดูดออกได้หมดหรือไม่ แต่ในกรณีที่มีหินปูนที่น่าสงสัยอาจใช้เครื่องแมมโมแกรมเป็นตัวช่วยในการบอกทิศทางและตำแหน่ง
ข้อดี ได้ชิ้นเนื้อปริมาณมาก เหมาะกับพยาธิสภาพที่เป็นจุดเล็กๆกระจายบริเวณกว้าง หรือ หากเป็นก้อนขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่ำ สามารถใช้เจาะชิ้นเนื้อ และดูดชิ้นเนื้อได้เกือบทั้งหมด
ข้อเสีย ขนาดแผลอาจใหญ่กว่าวิธีที่ 1หรือ2 เล็กน้อยประมาณ 5 มิลลิเมตร และมีโอกาสเลือดคั่งในแผลได้มากกว่า

2. การผ่าตัด สามารถทำได้ด้วยการผ่าเอาก้อนเนื้อทั้งชิ้น หรือบริเวณบางส่วน เพื่อส่งตรวจ
ข้อดี ความแม่นยำสูงที่สุด บางรายสามารถผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยการผ่าก้อนเนื้อทั้งชิ้นได้
ข้อเสีย แผลใหญ่กว่า และหากผลชิ้เนื้อเป็นมะเร็งก็จะต้องมีการผ่าตัดซ้ำ

ทั้งนี้ความเหมาะสมในแต่ละวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะพยาธิสภาพ และผลอัลตร้าซาวน์แมมโมแกรม ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ถึงข้อดี-ข้อเสีย และทางเลือกที่เหมาะสมในแต่ละราย

ขั้นตอนวิธีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ
  • ผู้ที่จะเข้ารับการเจาะชิ้นเนื้อ เปลี่ยนชุด
  • ผู้ที่จะเข้ารับการการเจาะชิ้นเนื้อจะทำภายใต้เครื่องอัลตร้าซาวน์ หรือ แมมโมแกรม ขึ้นกับพยาธิสภาพที่ตรวจพบ
  • แพทย์ที่จะทำหัตถการตรวจหาตำแหน่งที่มีความผิดปกติ
  • แพทย์จะทำการฉีดยาชาตำแหน่งที่จะทำหัตถการเจาะชิ้นเนื้อ และเปิดแผลขนาดประมาณ 2 มิลิเมตร
  • แพทย์จะใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อตัดชิ้นเนื้อ ประมาณ 5-6 ครั้ง
  • แพทย์จะทำการกดห้องเลือด และปิดแผล

การเตรียมตัวก่อนตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านม
  • งดยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด หรือยาะลายลิ่มเลือดตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดรับประทานวิตามิน อาหารเสริม 7 วัน
  • การแต่งตัวสบาย สามารถเปลี่ยนเสื้อที่ใส่ได้ง่าย

การปฏิบัติตัวหลังตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านม
  • แพทย์จะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ งดการถูบริเวณพลาสเตอร์ ด้วยสบู่ เพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าแผลได้
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  • ใส่ชุดชั้นในได้ตามปกติ
  • งดยกของหนัก หรือออกกำลังกาย 1 สัปดาห์
  • หากมีอาการปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาพาราเซตามอลตามคำสั่งแพทย์ได้
  • หากพบว่าแผลตำแหน่งที่เจาะมีอาการบวมแดงซ้ำมาก ปวดบริเวณแผลมากขึ้น รับประทานยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น และมีแผลซึมปริมาณมาก ให้รีบมาพบแพทย์ทันที


เพราะฉะนั้น การตรวจคัดกรองเต้านมเป็นประจำทุกปี จึงมีความสำคัญเพราะหากเราตรวจพบในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่สามารถรักษาได้ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง หรือหากกังวลว่าถ้าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วจะต้องโดนตัดเต้านมทิ้งไป หมดความกังวลกับปัญหานี้ได้เลย เพราะในปัจจุบันได้มีอีกหนึ่งทางเลือกที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม พร้อมเสริมเต้านมได้ทันทีหลังจากผ่าตัดก้อนเนื้อร้ายออกไป


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรม อาคาร 1 ชั้น 1 

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-5144141 ต่อ 1101-1100