การดูแลสุขภาพ หลังการได้รับยาเคมีบำบัด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
30-ส.ค.-2566
หลังจากการให้ยาเคมีบำบัด แล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ หรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งมีผลลัพธ์ที่ดี และมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคมะเร็ง หรือไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกาย


วิธีการรับมือกับอาการ หลังได้รับยาเคมีบำบัด
  • อ่อนเพลีย หากรู้สึกอ่อนเพลียอาจงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 15 ถึง 20 นาทีได้ เพราะการงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะช่วยให้คุณจัดการกับอาการอ่อนเพลียระหว่างวันได้ และช่วยให้คุณนอนหลับตอนกลางคืนได้ดียิ่งขึ้นด้วย

  • คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยที่รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียนหลังจากให้ยาเคมีบำบัด อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น 5-6 มื้อต่อวัน และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีกลิ่นฉุน

  • ท้องเสีย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาแก้ท้องเสียตามแพทย์สั่ง และดื่มน้ำมากๆ หรือดื่มเกลือแร่ ตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายสูญเสียน้ำในช่วงที่มีอาการท้องเสีย และควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย หรืออาหารที่มีกากใยน้อย เช่น กล้วย โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น รวมถึงจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ด และอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร เช่น ถั่ว โซดา ร่วมด้วย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการท้องเสียมากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดเกร็งท้อง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

  • ผมร่วง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงควรตัดผมสั้น เพื่อให้สะดวกในการดูแล หรือหากต้องการใส่วิกผม ก็ควรเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผมจะร่วงหมด เพื่อให้วิกผมที่เตรียมไว้เข้ากับสภาพผม หรือเข้ากับรูปหน้า และให้ดูเป็นธรรมชาติ เมื่อจบการรักษาผมจะงอกขึ้นมาเป็นปกติ รวมถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสระผม ก็ต้องเป็นชนิดอ่อนๆ และไม่ควรสระผมบ่อย หรือการเลือกซื้อหวี ก็ควรเลือกใช้เป็นหวีที่มีขนนิ่มๆ หรือหวีที่ซี่ฟันห่างๆ

  • เจ็บปาก หรือแผลในปาก อาจบรรเทาอาการด้วยการกินอาหารที่อ่อนนิ่ม เพื่อช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้น และใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม อมน้ำแข็งก้อนเล็กหรือเคี้ยวหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล เพื่อคงความชุ่มชื้นภายในช่องปาก และหลังจากรับประทานอาหารควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือทุกครั้ง และหากรู้สึกเจ็บมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ ให้รีบพบแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลขึ้นใหม่

  • ท้องผูก จะต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง และดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 3 ลิตร หรืออาจเป็นน้ำผลไม้ และปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาถ่าย หรือยาระบาย ตามคำแนะนำของแพทย์

  • การติดเชื้อได้ง่าย จะพบได้หลังจากให้ยาเคมีบำบัดไปแล้วประมาณ 10-14 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์กดไขกระดูก ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ และไอมาก โดยเป็นภาวะที่ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้

  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลังจากให้ยาเคมีบำบัด อาจพบผื่น ผิวหนังแห้ง และแพ้แสงแดดได้ง่าย โดยผู้ป่วยควรเลือกใช้สบู่ที่ไม่มีน้ำหอม หรือโลชั่นที่ป้องกันผิวแห้ง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดโดยตรง แต่หากต้องออกจากบ้านก็ควรใส่หมวก หรือทาครีมกันแดดก่อนทุกครั้ง


การดูแลสุขภาพ หลังได้รับยาเคมีบำบัด
1.รับประทานอาหารสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา นม และไข่ไก่ต้มสุก เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย และมีโปรตีนที่สำคัญในการเสริมสร้างเซลล์ในร่างกายที่ถูกทำลายไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย

2.หลีกเลี่ยงการซื้อยาหรือสมุนไพรต่าง ๆ มารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดลดลงได้ จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษา หรือเภสัชกรก่อนเสมอหากต้องการรักษาแบบทางเลือกร่วมด้วย

3.พบแพทย์ และรับยาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจเลือด และประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนรับยาเคมีบำบัดในครั้งถัดไป เพื่อให้ยาเคมีบำบัดในครั้งหน้าออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ

4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษต่างๆ หรือรับสารพิษที่อาจไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็ง เช่น ไอเสียรถยนต์ สัมผัสกับสิ่งสกปรก สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีสารกระตุ้นเซลล์มะเร็ง และอาจทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำลง หรืออาจทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามแผนการรักษาที่วางไว้

5.ภาวะอารมณ์แปรปรวน เพราะผู้ป่วยอาจรู้สึกกังวลต่อโรคที่เป็น ผลข้างเคียงของโรค และอาจมีความวิตกถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งคนในครอบครัวจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยการดูแลเอาใจใส่ และพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ มีกำลังใจขึ้นมา และไม่ท้อแท้ หรือหมดกำลังใจที่รักษาโรคมะเร็งให้ครบตามกำหนด

6.การออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และลดความวิตกกังวล แต่ในกรณีที่ยังไม่สามารถออกกำลังกายได้ อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน และไม่ควรนอนพักเพียงอย่างเดียวตลอดทั้งวัน หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ซึ่งอาจปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายทั้งก่อน และหลังให้ยาเคมีบำบัด ไม่หักโหมจนเกินไป หรือเหมาะสมกับช่วงวัย เช่น การเดินช้าๆ รำมวยจีน เล่นโยคะ เป็นต้น


อาการผิดปกติหลังได้รับยาเคมีบำบัด ที่ควรรีบมาพบแพทย์
  • แขนข้างที่ให้ยาเคมีบำบัดมีอาการบวม แดง ร้อน แสบหรือดำคล้ำ
  • มีไข้สูง หนาวสั่น ซีดมาก อ่อนเพลีย
  • มีจ้ำเลือดตามตัว มีผื่นขึ้นตามตัว
  • คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ร่วมกับมีอาการท้องเสีย
  • ปัสสาวะมีเลือดปน เจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะไม่ออกภายใน 8 ชั่วโมง
  • เยื่อบุช่องปากเป็นแผลและอักเสบรุนแรง มีแผลหรือมีเชื้อราในช่องปาก
  • มีอาการหน้ามืด ใจสั่น หอบเหนื่อย รู้สึกจะเป็นลม


ทั้งนี้ หากรับประทานยาแล้วอาการข้างค้างเคียงไม่ดีขึ้นหรือมีอาการหนักขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป เพื่อการรักษาโรคมะเร็งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น