กระดูกหัก อุบัติเหตุที่เสี่ยงพิการได้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-พ.ค.-2566

“กระดูกหัก” เป็นอุบัติเหตุที่ต้องระวัง ในช่วงสงกรานต์ เพราะเป็นเทศกาลที่หลายคนอาจเฝ้ารอคอยการกลับบ้าน เพื่อกลับไปชาร์จแบตให้กับตัวเองหลังจากที่รู้สึกท้อแท้ หมดหวัง หรือเจอเรื่องเครียดมา เพื่อให้ร่างกายหรือจิตใจกลับมาสดใสได้อีกครั้ง ซึ่งการออกเดินทางในครั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ ซึ่งเราคงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนที่เรารักอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เกิด “ภาวะกระดูกหัก” ได้นั้นเอง

 

กระดูกหัก ปล่อยไว้อาจทำลายคุณภาพให้แย่ลง

กระดูกหัก เป็นภาวะที่มีการแตกหรือหักของกระดูก ซึ่งบริเวณที่หักอาจจะแตกเป็นรอย หรืออาจแตกเป็นหลายชิ้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการบาดเจ็บหรือความรุนแรงของอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการลื่นล้ม ตกลงจากที่สูง เเละได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว ซึ่งผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนยิ่งต้องระวังอย่าให้หกล้ม เพราะการหกล้ม 1 ครั้งอาจทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายกว่าปกติหรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกต่างๆได้


ทำไมต้องรีบรักษา เมื่อกระดูกหัก

กระดูกหัก เป็นภาวะที่อาจไม่รุนแรงจนถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเสี่ยงพิการถาวรได้ ซึ่งข้อดีของการรักษาเมื่อกระดูกหัก ก็คือ จะช่วยให้กระดูกกลับมาติดกัน และมีความแข็งแรงเหมือนเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ดังเดิม โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาได้อย่างแม่นยำ และตรงจุด

 

อาการกระดูกหัก ที่ต้องรีบมาพบแพทย์

  • เจ็บปวด บวม บริเวณที่มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน
  • สีของผิวหนัง รูปร่างของอวัยวะนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากรูปร่างปกติ
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณนั้นได้ หรือเคลื่อนไหวแล้วจะเจ็บปวดมาก
  • มีการหดสั้นของอวัยวะ เช่น แขน ฯลฯ
  • อาจคลำพบปลายหรือหัวกระดูกที่เคลื่อนหรือหักออกมา

 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสงสัยว่ากระดูกหัก

  • ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีที่สงสัยว่ากระดูกหลัง สะโพก หรือขาหัก ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ
  • อย่าพยายามดึงข้อหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตนเอง
  • หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ
  • หากมีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดแผล เพื่อห้ามเลือดไว้
  • ประคบน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือบวม
  • ในกรณีที่เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากสถานที่มีอันตรายไปสู่ที่ปลอดภัยหรือโรงพยาบาล ต้องเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันอันตรายอาจเกิดขึ้นได้
  • ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที


การรักษากระดูกหัก

  • รักษากระดูกหัก แบบไม่ผ่าตัด ใช้วิธีการเข้าเฝือกโดยจัดเรียงแนวกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติก่อนใส่เฝือกเพื่อพยุงกระดูกบริเวณที่เกิดอาการหัก  มักใช้กับกระดูกส่วนแขนหรือขาท่อนล่าง  รวมทั้งใช้เพื่อจัดกระดูกผิดรูปในเด็กได้ด้วย ส่วนการดึงถ่วงน้ำหนัก จะใช้กับกระดูกต้นขาหรือในกรณีที่มีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อ
  • รักษากระดูกหัก ด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกหักที่ซับซ้อนกระดูกหักแบบเปิด กระดูกต้นขาหรือกระดูกหน้าแข้งหัก และมีความจำเป็นต้องฟื้นคืนการเคลื่อนไหวให้กลับไปใช้งานได้ตามปกติเร็วที่สุด

 

คืนความเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไปอย่างมั่นใจอีกครั้ง

  • งดกิจกรรมบางอย่าง เพื่อให้ร่างกายกลับมาฟื้นตัวหรือกลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติเร็วขึ้น เช่น ยกของหนัก ขับรถ เล่นกีฬาบางประเภท เป็นต้น
  • เดินออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างกล้ามตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารประเภท ที่มีแคลเซียมสูง หรือนมที่มีไขมันต่ำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกกลับมาแข็งแรงเร็วขึ้น
  • เคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่ปกติ เพื่อช่วยลดอาการบวม หรือตรึง

 

 

ถึงแม้ว่ากระดูกจะติดสนิทกันแล้ว ผู้ป่วยก็ควรระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหักซ้ำได้ เพราะหากกระดูกหักซ้ำอีกก็อาจจะต้องเริ่มต้นการรักษาใหม่อีกครั้ง และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้นั่นเอง


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105

Line id : @Paolochokchai4