เมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยมักเกิดความกังวลถึงความเจ็บปวดหรืออาจกังวลว่าจะไม่สามารถกลับมาเดินได้ดังเช่นปกติ แต่ในความจริงแล้วหลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาระงับอาการปวด ควบคู่กับการประคบเย็นเพื่อบรรเทาการอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถลุกนั่งและฝึกเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ซึ่งการฝึกเดินกับนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในระยะเวลาไม่นาน
ฟื้นตัวไว เดินได้เร็ว หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพข้อเข่าให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีเช่นเดิม โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
- หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยควรวางหมอนหนุนขา ยกปลายเท้าข้างที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม และฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- หลังผ่าตัดวันที่ 1 จะมีการประคบเจลเย็นบริเวณแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา งอขา เหยียดขา ในรายที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วจะได้ฝึกยืนลงน้ำหนักและหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker)
- หลังผ่าตัดวันที่ 2 นักกายภาพบำบัดจะให้ฝึกเดิน ฝึกการเหยียดเข่า-งอเข่าอย่างต่อเนื่อง หากเดินได้ดีจะมีการฝึกใช้ห้องน้ำเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยยังคงต้องนอนยกขาสูงและประคบเจลเย็นที่หัวเข่าเพื่อลดบวม
- หลังผ่าตัดวันที่ 3 ถ้าฝึกเดินในห้องได้ดีแล้ว นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยเดินขึ้นลงบันได
- หลังผ่าตัดวันที่ 4 จะเป็นการสรุปการฝึกเดินทั้งหมด และแนะนำวิธีการฝึกใช้กำลังเข่าและขา หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินได้คล่อง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
ดูแลตัวเองอย่างไร ขณะพักฟื้นที่บ้าน
- ใน 2 สัปดาห์แรก ควรฝึกเดินด้วยไม้ค้ำยันหรือคอกช่วยเดิน เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวกดทับหัวเข่ามากเกินไป และป้องกันการลื่นล้ม โดยควรฝึกเดินในระยะสั้นๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะทางและเวลาการฝึกให้มากขึ้น
- เมื่อต้องนั่งห้อยขาหรือทำกิจกรรมอื่นเป็นเวลานาน ควรหาเวลานอนพักและยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดและของเหลวในร่างกาย แนะนำให้ใช้แผ่นประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมต่อเนื่อง ผู้ป่วยสามารถนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดได้ แต่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าให้ขาข้างที่ผ่าตัดถูกทับนานเกินไป
- บริหารหัวเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกต้องขยันฝึก เพื่อป้องกันข้อเข่าติด แข็ง งอ หรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่
- การฝึกขึ้นลงบันไดให้เอาขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน แต่ในการลงบันไดให้เอาขาข้างที่เจ็บหรือข้างที่ผ่าตัดลงก่อน โดยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือแนะนำให้ฝึกขณะที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
- ทำกิจวัตรประจำวันอย่างช้าๆ เช่น เวลาเอี้ยวตัว หมุนตัว ก้มตัว ลุกขึ้นนั่งจากที่นอน การล้มตัวลงนอน การลุกขึ้นยืน
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพื่อลดการรองรับน้ำหนักของหัวเข่า
- ดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากจะต้องรักษาฟัน ขูดหินปูน ทำฟัน ถอนฟัน หรือรักษาโรคอื่นๆ ใน 2-3 ปีหลังจากการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาหาแนวทางป้องกันการติดเชื้อที่อาจลุกลามไปถึงเข้าเข่าเทียมได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการขับรถใน 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักใน 6 สัปดาห์แรกหลักการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งบนเก้าอี้เตี้ย หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ หรือยืด-หดหัวเข่าอย่างรวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ กระแทก กระโดดหรือใช้เข่ามากๆ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส วิ่ง
- หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำกิจกรรมในที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่เดินบนพื้นที่เปียก โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่อยู่ในท่วงท่าที่ต้องบิดเข่าหรืองอเข่าเกินกว่า 90 องศา
หากผู้ป่วยปฏิบัติตนได้ถูกต้อง หมั่นทำการภาพบำบัดอยู่เสมอ การฟื้นตัวก็จะรวดเร็ว และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุข และสามารถใช้หัวเข่าเทียมนี้ไปได้อีกยาวนานนับสิบปีเลยทีเดียว
.jpg)