เพราะการแต่งงานเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เป็นดั่งความฝันที่ผู้หญิงหลายคนปรารถนา ฉะนั้นอย่าให้ช่วงเวลาอันแสนสุขของคุณต้องหยุดชะงักเพียงเพราะละเลยที่จะตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพภายในอย่างมดลูกและรังไข่ ที่ไม่ใช้แค่การตรวจคัดกรองทั่วไป แต่เป็น “การตรวจอัลตร้าซาวด์” ซึ่งสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ประจำเดือนที่ว่า “ผิดปกติ” ต้องผิดปกติแบบไหน
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การมีประจำเดือนก็จะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำสม่ำเสมอและไม่ได้สร้างอาการปวดท้องหรืออาการใดๆ กลับมีความผิดปกติไป เช่น มามากและนาน มาน้อยเกินไป มากะปริบกะปรอย หรือทำให้ปวดท้องมากกว่าปกติเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน รวมทั้งปวดท้องทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงการมีรอบเดือน หรือมีรอบเดือนแล้วมีลิ่มเลือดปนเป็นก้อนออกมา และเมื่อ “ประจำเดือนผิดปกติ” เมื่อไหร่ ก็ให้สงสัยได้ว่า...อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับมดลูกหรือรังไข่ได้ จึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญการ
แต่โดยปกติแล้ว ประจำเดือนของแต่ละคนก็จะมีปริมาณและจำนวนวันมาที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่หากประจำเดือนมามากในระดับที่เป็นสัญญาณผิดปกติ ในทางการแพทย์จะพิจารณาดังนี้
- ประจำเดือนมามากกว่า 7 วันขึ้นไป
- มามากจนทำให้ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ ชั่วโมงหรือบ่อยมากๆ หรือต้องตื่นขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างนอนหลับ
- ในผู้หญิงที่อายุเข้าเลข 50 หรือใกล้เข้าวัยทอง แต่ประจำเดือนกลับมามากขึ้น ทั้งๆ ที่ควรจะน้อยลง
ดังนั้น หากใครมีประจำเดือนมามากผิดปกติเหมือนใน 3 ข้อที่กล่าวมา รวมถึงปวดประจำเดือนมากขึ้น รอบเดือนมาๆ หายๆ หรือมีตกขาวมาก ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้พบว่ามีโรคอะไรแฝงอยู่หรือไม่ จะได้รักษาให้ถูกทาง
วิธีตรวจหาโรคจากการที่ “ประจำเดือนผิดปกติ”
- การตรวจภายใน
คือตรวจดูช่องคลอด ปากมดลูกด้วยการคลำหรือส่องกล้องว่ามีก้อน แผล หรือติ่งเนื้อหรือไม่ ร่วมกับการเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำมาเพาะหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ตลอดจนคลำตรวจขนาดของมดลูกและรังไข่ ตรวจด้วยการกดแล้วสังเกตอาการว่าเจ็บหรือไม่ หรือพบก้อนแปลกปลอมหรือเปล่า
- การอัลตราซาวด์
เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว หากพบความผิดปกติที่มดลูกหรือรังไข่ การอัลตราซาวนด์ทั้งทางหน้าท้องและทางช่องคลอดจะช่วยให้พบโรคและช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น
อาการปวดท้องประจำเดือนเป็นสัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์
โดยมากจะพบว่ามีการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงและมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน หรือมีอาการปวดและเจ็บลึกๆ ที่ช่องคลอดหรือท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากตรวจแล้วพบโรค ก็สามารถทำการรักษาได้
การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์
ปกติแล้ว จะเลือกรักษาจาก 2 วิธีหลักๆ คือ
- การรักษาด้วยยา การใช้ยา ก็เพื่อยับยั้งการทำงานของรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ไม่มีประจำเดือน หรือลดอาการปวดขณะมีประจำเดือน ผลการรักษาด้วยวิธีนี้มักขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละคน โดยการใช้ยาจะมีการติดตามและประเมินอาการเป็นระยะๆ จากแพทย์ ถ้าการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
- การผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำถุงช็อกโกแลตซีสต์ออก ซึ่งเป็นทั้งการรักษาและสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยมักนิยมการผ่าตัด 2 วิธีนี้ คือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยลดปัญหาการเกิดพังผืด แผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า และผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- เนื้องอกมดลูก
โดยมากพบว่า มีประจำเดือนมามากและนาน หรือมีลิ่มเลือดปนเป็นก้อน ปวดประจำเดือนมากขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงการมีประจำเดือน ซึ่งก้อนเนื้องอกอาจเติบโตไปกดทับอวัยวะใกล้เคียงทำให้มีอาการแทรกซ้อนหรือเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้
การรักษาเนื้องอกมดลูก
ปกติแล้ว หากเนื้องอกมดลูกยังมีขนาดเล็กก็มักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็น...จนกว่าตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งมักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี จากการตรวจภายใน หรือการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรพิจารณาเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำ หากตรวจพบโรคเร็วก็สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น
- การฉีดสารเพื่อให้เกิดการอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงเนื้องอกมดลูกโดยไม่ต้องผ่าตัด
เป็นการรักษาโดยใช้เทคนิคทางรังสีวิทยา ด้วยการสอดสายผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงเนื้องอก แล้วทำการฉีดสารเพื่อให้หลอดเลือดอุดตัน ก้อนเนื้องอกที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะฝ่อลง เหมาะกับการรักษาเนื้องอกก้อนที่ยังไม่ใหญ่มาก
- การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกออก
หากเนื้องอกมดลูกมีรขนาดใหญ่ แพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด ผ่าตัดแบบเปิดผนังท้อง และแบบส่องกล้องผ่านหน้าท้องแผลเล็ก ซึ่งการจะเลือกผ่าตัดแบบใดนั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบ เช่น ระดับอาการ ระยะของโรค โรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และความต้องการในการมีบุตรในอนาคต
โรคภายในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์สตรี ส่วนใหญ่แล้วหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพหรือตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ก็มักพบเมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้การรักษายากขึ้น และผู้ป่วยต้องเจ็บตัวหรือมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ดังนั้นการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ และการป้องกันที่ดีด้วยการฉีดวัคซีน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา