-
6 โรคหน้าหนาว ที่ควรเฝ้าระวังในเด็ก
เมื่อถึงช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงขณะเข้าฤดูหนาว ร่างกายของเราก็จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เย็นลง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงนัก เมื่อเจอกับอากาศหนาวเย็นก็อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อโรคที่มักมากับฤดูหนาวมากกว่าผู้ใหญ่ โดยโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังในเด็กเล็กในช่วงฤดูหนาวนั้นมีอยู่หลายโรค ดังนี้
1. โรคไข้หวัด : เป็นโรคที่พบได้ในทุกฤดู แต่ในฤดูหนาวจะพบมากขึ้น เพราะด้วยอากาศที่เย็นทำให้ติดเชื้อและป่วยได้ง่ายขึ้นถึง 2 เท่า ไข้หวัดใหญ่จะติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย และติดได้ง่ายขึ้นในเด็กเล็กเนื่องจากภูมิต้านทานในเด็กจะต่ำกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็จะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และมักก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า
อาการ : คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม และอาจมีอาการไอตามมา มักมีไข้ไม่สูงมากประมาณ 1-2 วัน ในบางรายอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 3-7 วัน
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หรือคลุกคลีกับผู้ที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง รักษาความสะอาดของใช้ต่างๆ ล้างมือบ่อยๆ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
2. โรคไข้หวัดใหญ่ : เป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่า ซึ่งไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Ifluenza Virus) โดยสายพันธุ์ที่พบการระบาดอยู่บ่อยๆ มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B มักติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย
อาการ : มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นอาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ และไอแห้งตามมา ในเด็กบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงร่วมด้วย
การป้องกัน : สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และเนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ รวมถึงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เคยได้รับก็จะลดลงจนไม่สามารถป้องกันเชื้อได้แล้ว จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. โรคปอดบวม : เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ รวมถึงโรคต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่ปอดจนกลายเป็นหนองในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้เพียงพอ เชื้อต่างๆ ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ สามารถติดต่อกันได้ผ่านละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ที่มีเชื้ออยู่ โรคนี้พบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี
อาการ : มีไข้สูง มีเสมหะมาก ไอ รู้สึกหอบเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หรือหายใจลำบากจนสังเกตได้ว่าเด็กมีอาการหายใจแรง หากเกิดอาการรุนแรงอาจทำให้สภาวะปอดและหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกัน : สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือลดโอกาสการเกิดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัดหรือพื้นที่สุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาด
4. โรคอีสุกอีใส : เป็นโรคที่มักเกิดในเด็กเล็กและในวัยเรียน ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำจากผู้ป่วย หรือแม้แต่สัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนกับสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส อีกทั้งยังติดต่อโดยผ่านการหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไปได้อีกด้วย
อาการ : มักเริ่มต้นด้วยการมีไข้ต่ำๆ จากนั้นจะมีผื่นแดงราบขึ้นตามร่างกาย ต่อมาตุ่มจะนูนขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำใส เมื่อผ่านไปสักระยะตุ่มน้ำใสจะตกสะเก็ด และหายไปในที่สุดโดยอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาการของโรคอาจรุนแรงได้
การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยสามารถฉีดได้เมื่อเด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อโรคไปตลอดชีวิต จึงมักไม่เป็นซ้ำ
5. โรคท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง : เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่พบได้บ่อยขึ้นในฤดูหนาว ถ้าเกิดกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี อาจมีอาการรุนแรง โรคนี้ติดต่อได้ทางการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโรต้า
อาการ : มักจะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีไข้ อ่อนเพลีย โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ
การป้องกัน : ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ทำความสะอาดของเล่นและของใช้ของเด็กบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. โรคหัด : เป็นโรคที่มักพบบ่อยในเด็กเล็กและเด็กในวัยเรียน มักระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวไปจนถึงช่วงฤดูร้อน โดยเกิดจากเชื้อไวรัสรูบีโอราไวรัส ที่ติดต่อได้จากการรับเอาละอองฝอยของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งที่มีเชื้อปนเปื้อน
อาการ : อาการเริ่มแรกจะมีไข้สูง 3-4 วัน มีน้ำมูก ไอแห้ง ซึม เบื่ออาหาร งอแง และอาจมีตาแดงได้ด้วย หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ ขึ้นบริเวณหลังหู แล้วจึงลามไปตามใบหน้าและทั่วร่างกาย โดยหลังจากผื่นขึ้น 2-3 วัน ผื่นจะเริ่มจางลงเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น และหายได้เองใน 7-14 วัน
การป้องกัน : ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีกับผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหัด หมั่นล้างมือให้เด็กบ่อยๆ และควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่เด็กอายุ 9 เดือน ขึ้นไป
บทความโดย
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn