-
6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน
ความเชื่อเรื่องประจำเดือนของคนไทยได้รับการบอกต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งหลายอย่างก็เป็นความเข้าใจผิดที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จะมาช่วยไขข้อข้องใจว่าความเชื่อไหนบ้าง? ที่ไม่ถูกต้อง! และยังมีคำแนะนำดีๆ ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพเพื่อลดความรุนแรงของอาการปวดท้องประจำเดือนมาฝากอีกด้วย
6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน และความเป็นจริงที่ควรทราบ
1.
ความเชื่อ : ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือของเย็นๆ ในช่วงมีประจำเดือน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น และจะขับเลือดประจำเดือนออกมาได้ไม่หมด ทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด
ความจริง : การดื่มน้ำเย็นหรือกินของเย็นๆ ในช่วงมีประจำเดือนจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำหรืออาหารจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้มาก่อน จึงไม่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อมดลูก เช่นเดียวกับการอาบน้ำเย็น เพราะร่างกายของคนเราจะมีระบบปรับอุณหภูมิของสิ่งที่ทานเข้าไปรวมถึงอุณหภูมิจากภายนอก ทำให้ร่างกายสามารถปรับอุณหภูมิได้แม้จะทานของเย็นหรืออาบน้ำเย็นก็ตาม
2.
ความเชื่อ : ไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวช่วงมีประจำเดือน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เลือดมีกลิ่นคาวขึ้น ปวดประจำเดือนมากขึ้น ทำให้ประจำเดือนในรอบถัดไปมาผิดปกติ หรือทำให้ประจำเดือนหยุดไหล
ความจริง : ไม่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมะพร้าวในช่วงมีประจำเดือน แต่ก็ไม่แนะนำให้ดื่มมากเกินไป ที่มีความเชื่อเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากในน้ำมะพร้าวมีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติหรือไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ได้เช่นกัน
3.
ความเชื่อ : ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลียอยู่แล้ว หากออกกำลังกายอาจทำให้ประจำเดือนออกมามากขึ้น หรือเป็นลมได้
ความจริง : สามารถออกกำลังกายได้ เพราะการออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย แต่ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย โดยควรเลือกออกกำลังกายเบาๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไม่รุนแรงหรือหนักหน่วงเกินไป หรือลดระยะเวลาในการออกกำลังกายลงเล็กน้อยจากปกติ ทั้งนี้การออกกำลังกายที่มากเกินไปอย่างเช่นนักกีฬา ก็มีโอกาสที่จะทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
4.
ความเชื่อ : มีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่มีประจำเดือนจะช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ หรือทำให้ไม่ท้อง
ความจริง : อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากผู้หญิงบางคนมีเลือดคล้ายประจำเดือนไหลออกมาในช่วงไข่ตก ซึ่งช่วงที่ไข่ตกเป็นช่วงที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์มากที่สุด รวมถึงหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือนในวันท้ายๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงตั้งครรภ์ เพราะอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดหลังจากการหลั่งได้นานถึง 72 ชั่วโมง ดังนั้นแม้เป็นช่วงมีประจำเดือน หากต้องมีเพศสัมพันธ์ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย
ทั้งนี้ การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าปกติถึง 3 เท่า เนื่องจากในช่วงมีประจำเดือนภูมิต้านทานต่อเชื้อต่างๆ ในร่างกายจะทำงานลดลง และค่าการเป็นกรด-ด่างในช่องคลอดจะเปลี่ยนไป ทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ดีขึ้น ประกอบกับปากมดลูกจะเปิดเพื่อระบายเลือด ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่อาศัยในช่องคลอดเข้าสู่ภายในได้ง่ายขึ้น
5.
ความเชื่อ : ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ อาจทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก
ความจริง : สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง แต่การเปลี่ยนผ้าอนามัยที่น้อยครั้ง หรือใช้แผ่นเดิมนานจนเกินไป อาจส่งผลต่อความสะอาดบริเวณช่องคลอด
6.
ความเชื่อ : ประจำเดือนคือเลือดเสีย ยิ่งออกมามากก็ถือได้ว่าขับของเสียมาก
ความจริง : ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือด ซึ่งการที่มีประจำเดือนมามากก็ไม่ได้แสดงถึงการเอาของเสียออกจากร่างกาย ทั้งยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติของคุณผู้หญิงอีกด้วย การที่ประจำเดือนมามากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และระบบไหลเวียนโลหิตเกิดความผิดปกติได้
เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
เมื่อผู้หญิงอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือนมักมีอาการปวดท้อง เพราะช่วงก่อนมีประจำเดือนจะมีสารที่ชื่อว่า Prostaglandins ในปริมาณมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัว และหลังจากผ่านช่วงมีประจำเดือนไป สารตัวนี้ก็จะลดลง อาการบีบตัวของมดลูกจึงค่อยๆ หายไปใน 2-3 วัน ทั้งนี้ เมื่อเกิดการบีบตัวของมดลูกจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง แต่อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีเหล่านี้...
ทั้งนี้ หากใช้วิธีต่างๆ ข้างต้นแล้ว แต่อาการปวดประจำเดือนยังไม่ทุเลาลง แถมยังมีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนด้านอื่นๆ ควรรีบพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง
นอกจากนี้ การหมั่นตรวจสุขภาพและตรวจภายในจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เพราะหากพบความผิดปกติที่อาจเกี่ยวเนื่องกัน จะได้รีบรักษาทั้งตัวโรคก่อนอาการจะลุกลาม และทั้งช่วยแก้ปัญหาที่ส่งผลต่ออาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงได้อีกด้วย
บทความโดย
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่