เจ็บสะโพกแบบนี้...ใช่ข้อสะโพกเสื่อมหรือเปล่า?
หลายคนอาจเคยรู้สึกเจ็บสะโพกโดยไม่ทราบสาเหตุ แค่คิดว่าอาจนั่งผิดท่า เดินเยอะไป หรือแค่พักผ่อนก็หาย แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเจ็บเล็กๆ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณแรกของ "ข้อสะโพกเสื่อม" หากปล่อยไว้ อาการอาจลุกลามจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้
.jpg)
ข้อสะโพกเสื่อมคืออะไร?
ข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis) เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกเริ่มสึกหรอจนเกิดการเสียดสีระหว่างกระดูก ทำให้เกิดอาการปวด เจ็บ และข้อติดขัด โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสื่อมของข้อสะโพก ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือการใช้งานข้อสะโพกหนักเกินความเหมาะสม เช่น ยกของหนัก นั่งนาน หรือวิ่งในลักษณะที่กระแทกข้อสะโพก
5 สัญญาณเตือนข้อสะโพกเสื่อมที่ควรสังเกต!
อาการข้อสะโพกเสื่อมมักเริ่มต้นอย่างช้าๆ และบางครั้งก็แสดงออกในรูปแบบที่เราอาจไม่ทันสังเกต ลองตรวจสอบว่าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้หรือไม่
- เจ็บสะโพกหลังตื่นนอน : เมื่อเริ่มขยับตัวหลังตื่น อาจรู้สึกถึงอาการตึงหรือเจ็บบริเวณสะโพกเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า และต้องใช้เวลาสักพักเพื่อขยับตัวให้คลายก่อนจะลุกเดินได้
- ปวดสะโพกเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได : อาการเจ็บจะชัดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อสะโพก เช่น เดินเยอะๆ หรือขึ้นลงบันได
- รู้สึกข้อติดหรือขยับสะโพกยาก : รู้สึกว่าสะโพกไม่ยืดหยุ่นหรือหมุนตัวลำบาก โดยเฉพาะเวลานั่งพับขาหรือหมุนตัวเร็วๆ
- มีเสียงดังกรอบแกรบจากสะโพก : หากเคยได้ยินเสียงสะโพกดังเวลาขยับมักเกิดจากการเสียดสีระหว่างกระดูกในข้อสะโพก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่ากระดูกอ่อนสะโพกเริ่มสึกกร่อน
- ปวดร้าวไปที่ขาหนีบหรือเข่า : ข้อสะโพกเสื่อมอาจทำให้เกิดอาการปวดที่ลามไปบริเวณอื่น เช่น ขาหนีบ ต้นขา หรือแม้แต่เข่า
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้มากกว่า 2 ข้อขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน เนื่องจากคุณกำลังอาจเสี่ยงเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
(1).jpg)
ข้อสะโพกเสื่อม ปล่อยไว้อาจไม่ดี
หากไม่ใส่ใจดูแลข้อสะโพกตั้งแต่เนิ่นๆ อาการเสื่อมอาจพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น
- การอักเสบเรื้อรังในข้อสะโพก
- การจำกัดการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น เดินหรือยืนเป็นเวลานานไม่ได้
ปัจจัยไหนส่งผลเสี่ยงต่อข้อสะโพกเสื่อม?
สาเหตุของข้อสะโพกเสื่อมมีหลายปัจจัย แต่ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- อายุที่เพิ่มขึ้น : กระดูกและข้อเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ
- น้ำหนักเกิน : น้ำหนักตัวที่มากทำให้ข้อสะโพกรับแรงกดสูง
- พฤติกรรมที่ผิด : เช่น การนั่งพับเพียบบ่อยๆ หรือเดินด้วยรองเท้าที่ไม่มีการซัพพอร์ตข้อ
- การใช้งานข้อสะโพกหนัก : เช่น การยกของหนัก หรือออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง
- เกิดอุบัติเหตุบริเวณที่มีผลกระทบต่อข้อสะโพก : หรือเกิดหลังจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อสะโพก

วิธีป้องกันข้อสะโพกเสื่อม ก่อนสาย!
ถึงแม้ข้อสะโพกเสื่อมจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย แต่เราสามารถป้องกันหรือชะลออาการได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก : รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากน้ำหนักที่เหมาะสมช่วยลดแรงกดที่ข้อสะโพกอย่างมีนัยสำคัญ
- ออกกำลังกายที่ถนอมข้อสะโพก : เลือกกิจกรรมที่ไม่ส่งแรงกระแทกต่อข้อสะโพก เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว หรือโยคะ เพื่อช่วยเสริมความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบสะโพก
- นั่งและยืนในท่าที่ถูกต้อง : หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งไขว่ห้าง หรือนั่งในท่าที่ข้อสะโพกต้องรับน้ำหนักมากเกินไป
- เสริมอาหารบำรุงข้อ : เพิ่มการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย และผักใบเขียว รวมถึงโอเมก้า-3 ที่ช่วยลดการอักเสบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ : การพักผ่อนช่วยให้ข้อสะโพกได้ฟื้นฟู ไม่ต้องรับแรงกดมากเกินไปตลอดเวลา
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ : การลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ไม่เพียงแต่เกี่ยวเนื่องกับกระดูก แต่ยังส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย
ข้อสะโพกที่แข็งแรงคือพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างราบรื่น อย่าปล่อยให้อาการเจ็บสะโพกที่ดูเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่ หากคุณเริ่มมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลอย่างเหมาะสม
โดยโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีความเพียบพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ในการตรวจรักษา โดยเฉพาะทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านข้อสะโพก ที่พร้อมดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากโรคภัยที่กำลังเผชิญ
บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn
(1).png)