-
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากรู้เท่าทัน ป้องกันได้!
ในปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาส่วนใหญ่ในประเทศไทย เนื่องจากความเข้าใจผิดๆ ที่เกี่ยวกับโรค และการตระหนักถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่มากพอ ดังนั้นการที่รู้เท่าทันโรคต่างก่อนจึงสามารถช่วยให้หนีพ้นจากโรคร้ายที่อาจมาโดยที่เราไม่ระวังตัว
อะไรคือ “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์”
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases; STDs) หรือเดิมทีมีชื่อว่า “กามโรค” (Venereal Diseases) คือกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อจำพวกไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตโดยเชื้อสามารถติดต่อผ่านทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก และนอกเหนือจากการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อได้ผ่านทางการใช้เข็มร่วมกันกับผู้อื่น การให้เลือด รวมถึงจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์หรือขณะคลอดบุตร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์...มีโรคอะไรบ้าง?
ซิฟิลิส : เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum เมื่อได้รับเชื้อแล้วในระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศเป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ หากไม่ได้รักษาแผลจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่โรคจะดำเนินต่อไปโดยจะมีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก และมีอาการผมร่วง หรือปวดข้อ
และหากปล่อยไว้อีก โรคจะเข้าสู่ระยะสงบ คือ ไม่มีอาการแสดงใดๆ จะทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปเชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่วัยวะต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ หลอดเลือดหัวใจอักเสบ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตในที่สุด
หนองในแท้ : เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae ซึ่งอาการของโรคจะแตกต่างในแต่ละเพศ โดยเพศชายจะมีอาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะโดยอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ มีหนองข้นสีเหลืองหรือเขียวไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ หรืออาจเกิดการอักเสบบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
ในขณะที่เพศหญิงอาจไม่มีอาการแสดงหรือมีน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวมีปริมาณมากขึ้นทำให้ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บหรือแสบ หากไม่ได้รับการรักษาโรคจะลุกลามทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ หรือปวดตามข้อได้
หนองในเทียม : แม้ว่าชื่อโรคจะมีคำว่าหนองในเหมือนกันกับโรคหนองในแท้ แต่เชื้อแบคทีเรียนั้นเป็นคนละตัวกัน โดยโรคหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Trachomatis ซึ่งลักษณะอาการจะคล้ายกันกับหนองในแท้ และหากปล่อยไว้อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาในอนาคต
โดยเพศชายมักพบว่ามีอาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะ มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะโดยไม่ใช่ทั้งอสุจิและปัสสาวะ หรือเกิดการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ในขณะที่เพศหญิงจะมีอาการตกขาวที่ผิดปกติ มีลักษณะเมือกๆ ผสมกับหนอง และมีกลิ่นเหม็น หรืออาจมีเลือดออกมาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
เริม : ต้นเหตุของโรคเริมมาจากการติดเชื้อ Herpes Simplex Virus (HSV) ซึ่งโรคเริมไม่ใช่แค่เพียงการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้นที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่การสัมผัสผ่านทางผิวหนังก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน เมื่อได้รับเชื้อนี้ เชื้อโรคจะอาศัยอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เมื่อร่างกายอ่อนแอลงจะสามารถทำให้โรคเริมกำเริบขึ้นมาได้
โดยผู้ที่เป็นโรคเริมจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกลุ่มขนาด 1-2 มม. มีอาการปวดแสบ และคันบริเวณที่เกิดเริม บางรายอาจมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปากหรือในช่องปาก ซึ่งโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้แม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม
เอชพีวี : เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัส HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหลังติดเชื้อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเชื้อไวรัส HPV จะพัฒนากลายเป็นโรคได้ 2 ชนิด คือ โรคหูดหงอนไก่ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อผิวขรุขระ เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก แต่ก้อนติ่งนี้จะไม่รู้สึกเจ็บปวด และโรคมะเร็ง ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด หรือมะเร็งทวารหนัก
เอชไอวี : เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง และหากปล่อยไว้เชื้อไวรัส HIV จะทำให้เกิดภาวะคุ้มกันบกพร่องหรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทำอย่างไรดี...หากสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?
เมื่อพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีความเสี่ยงในการติดโรค แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำจากแพทย์อย่างถูกต้อง และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจอย่างแน่ชัด หากตรวจพบว่าตนเองติดโรค ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายขาด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หายขาดได้หรือไม่?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์การที่จะรักษาให้หายขาดได้จำเป็นต้องอาศัยวินัยและการปฏิบัติตนอย่างเคร่งคัดเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพที่สุด โดยแต่ละโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์มีทั้งโรคที่รักษาให้หายขาดและรักษาตามอาการ ได้แก่
รู้เท่าทัน...ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้!
ทั้งนี้ไม่มีการป้องกันใดที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 100% เนื่องจากบางโรคสามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถทำได้หลายวิธีและมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต หากท่านสงสัยว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
บทความโดย
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่