-
เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด...สัญญาณเตือนจากโรคทางนรีเวช
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
10-ก.ค.-2566

เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด...สัญญาณเตือนจากโรคทางนรีเวช

โดยทั่วไป เมื่อผู้หญิงเข้าสู่... วัยมีประจำเดือน เมื่อถึงรอบเดือนนั้นๆ การมีเลือดออกจากช่องคลอดก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตาม! หากเลือดที่ออกมานั้นมีมากผิดปกติ หรือกรณีมีเลือดออกทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงช่วงวันของรอบเดือนที่จะมาถึง นั่นอาจเป็นอาการของ ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งควรได้รับการตรวจรักษา

 


แบบไหนที่เรียกว่า “เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ”

โดยปกติแล้ว ประจำเดือนจะเป็นเลือดที่ออกมาจากช่องคลอดของผู้หญิงทุกเดือน ซึ่งประกอบไปด้วยเลือดกับเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกชิ้นเล็กๆ ปะปนออกมา โดยจะมีระยะเวลาในการเป็นประจำเดือนประมาณ 3-8 วัน และระยะห่าง 24-35 วันสม่ำเสมอ หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น

  • มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดในช่วงไม่มีประจำเดือน
  • เลือดออกมามากผิดปกติในช่วงที่มีประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • เลือดออกจากช่องคลอดทั้งที่ยังไม่ถึงวัยมีประจำเดือนหรือในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว

นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดได้

 

เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ...เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  1. ความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมักเกิดขึ้นกับวัยที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลง เช่น หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีภาวะไข่ไม่ตก ผู้หญิงในวัยที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน หรือวัยที่ใกล้หมดประจำเดือน ฮอร์โมนในวัยนี้มักเกิดความแปรปรวนหรือไม่สมดุลกัน หรืออาจเกิดจากการใช้ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง ก็สามารถทำให้มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดได้
  2. ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ตั้งแต่ท่อนำไข่ โพรงมดลูก ปากมดลูก หรือช่องคลอด เช่น ภาวะท่อนำไข่อักเสบอุดตัน ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้องอกมดลูก ติ่งเนื้อปากมดลูก การอักเสบของโพรงมดลูกหรือปากมดลูก เป็นต้น
  3. มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้เช่นกัน

 

หากสงสัยว่ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรทำอย่างไร?

  • จดบันทึกวันและเวลาที่มีอาการเลือดออกผิดปกติ จดประวัติประจำเดือนย้อนหลัง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นที่พบร่วมด้วย
  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการเลือดออกผิดปกติ และประวัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจร่างกาย เช่น ตรวจภายใน หรือในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจอุ้งเชิงกราน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจเลือด หรือตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี
  • อาจมีการตรวจพิเศษในรายที่สงสัยภาวะผิดปกติในโพรงมดลูก เช่น เก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกไปตรวจเพื่อหาภาวะเซลล์ผิดปกติ

 


รักษาอย่างไร...ให้หายจากภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด?

เนื่องจากในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีสาเหตุของอาการเลือดออกที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการรักษาอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ ดังนี้

  • การรักษาทั่วไป โดยเป็นการปรับพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกาย หรือหาเวลาผ่อนคลายความเครียด
  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาฮอร์โมน หรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการให้ยาและแนะนำการใช้ยา
  • การรักษาเฉพาะ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ แล้วพบว่ามีรอยโรคผิดปกติ หรือในกรณีพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ทำเคมีบำบัด หรือฉายแสงรักษา

 

ทั้งนี้ ในรายที่มีเลือดออกมาก อาจต้องเข้ารับการขูดมดลูก เพื่อควบคุมเลือดออกมากเกินไป และตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุมดลูกเพิ่มเติม โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสมในการรักษาอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดซ้ำอีก

 

หากคุณผู้หญิงมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นภาวะนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษา เพราะนอกจากอาการเสียเลือดมากอาจทำให้วิงเวียนศีรษะ หรืออ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง ยังอาจมีรอยโรคที่เราคิดไม่ถึงซ่อนอยู่ได้

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี จะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคทางนรีเวชในผู้หญิงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังตรวจหาโรคที่อาจเกิดขึ้นแต่ยังไม่แสดงอาการ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีได้อีกด้วย

บทความโดย

แพทย์หญิงลูกหวาย คู่ธีรวงศ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn