-
6 สัญญาณเตือน! โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke)
เส้นเลือดหรือหลอดเลือดสมอง มีหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองเพื่อให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน้าที่สำคัญของสมองคือการสั่งงานและควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเมื่อเราจะทำอะไรหรือเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใด สมองก็จะมีหน้าที่สั่งการให้ร่างกายทำสิ่งนั้น
หากเส้นเลือดในสมองเกิดการตีบ ตัน หรือแตก ก็จะส่งผลให้สมองขาดเลือด เกิดเป็นโรคเส้นเลือดในสมองหรือ Stroke ดังนั้น การรู้จักสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะพาตนเอง หรือผู้ที่มีอาการไปยังโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และลดความเสี่ยงการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
อาการแบบไหนคือ สัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองตีบ?
เราสามารถประเมินอาการของผู้ที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้โดยใช้การสังเกต และจดจำตามตัวอักษรคำว่า B.E.F.A.S.T. ได้ดังนี้
B (Balance) : มีอาการทรงตัวไม่ได้ เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุน และสูญเสียการทรงตัว
E (Eyes) : สูญเสียการมองเห็นข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง หรือตามัว และเห็นภาพซ้อน
F (Face) : ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือมุมปากตก
A (Arm) : มีลักษณะแขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก
S (Speech) : มีอาการลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดตะกุกตะกัก สื่อสารไม่เข้าใจ หรือนึกคำพูดไม่ออก
T (Time) : เมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นระยะที่ยังปลอดภัย และสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ทั้งนี้สามารถโทร.เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือโทร. 1669
หากผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีทางเลือกในการรักษาที่หลายหลากขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ หากเราดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป และงดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดสมอง เช่น การดื่มแอลกอฮอลล์ การสูบบุหรี่ และการกินอาหารหวาน มัน เค็ม ก็สามารถช่วยให้เราห่างไกลจากโรคเส้นเลือดสมองตีบได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้มีสุขภาพดี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ การหมั่นตรวจเช็กสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ โดยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้เราได้คัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และรู้ทันสัญญาณเตือนของร่างกายที่อาจมีซ่อนอยู่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อการป้องกันและรักษาก่อนสาย
บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ