-
ปวดท้องแบบไหน? ถึงใช่แผลในกระเพาะอาหาร
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
28-ก.พ.-2566

ปวดท้องแบบไหน? ถึงใช่แผลในกระเพาะอาหาร

อาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ คงทำให้หลายคนเคยชิน จนไม่คิดสงสัยว่าตนเองอาจกำลังเป็นโรค แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลรักษา นานเข้าก็จะสร้างความเจ็บปวดได้อย่างมากมาย ทั้งจากตัวโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต

 

แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร?

การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีสาเหตุสำคัญมาจากกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาภายในกระเพาะอาหาร ร่วมกับการที่เยื่อบุเมือกในผนังกระเพาะอาหารสร้างแนวต้านทานกรดได้ไม่ดีพอ ทำให้ผนังภายในกระเพาะอาหารถูกทำลายจนเกิดแผล

ทั้งนี้ การเกิดแผลในกระเพาะอาหารยังอาจเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ตรงเวลา กินอาหารรสจัด หรือการทานยา เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบบางชนิด รวมถึงการดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่ ก็ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

อีกทั้งในปัจจุบันยังพบว่า การติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (H. Pylori) คือต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

 

 

สัญญาณเตือน! โรคแผลในกระเพาะอาหาร

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกำลังมีแผลในกระเพาะอาหาร ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์จะดีกว่า

  • ปวดหรือจุกแน่นท้องหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักพบบ่อยในเวลาท้องว่าง โดยอาการปวดมักเป็นได้ตั้งแต่ไม่กี่นาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมง
  • ปวดแสบท้องมากเมื่อมีการทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด
  • ปวดท้องเป็นๆ หายๆ โดยอาจมีอาการปวดอยู่เป็นสัปดาห์ จากนั้นอาการอาจหายไป และกลับมาเป็นอีกในหลายเดือนต่อมา
  • ปวดท้องอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางดึก หรือนอนหลับไปแล้ว
  • อาการอื่นๆ ที่อาจมีร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดหลังทานอาหาร มีลมในกระเพาะมาก หรือท้องร้องโครกคราก

ทั้งนี้อาการปวดท้องมักจะทุเลาลง เมื่อทานยาลดกรด หรือดี่มนม และในกรณีที่ท้องว่างเมื่อทานอาหารเข้าไปอาการก็มักจะดีขึ้นได้เอง

 

ความน่ากลัวของ...แผลในกระเพาะอาหาร

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร มักรอจนมีอาการที่รุนแรงจึงค่อยมาเข้าตรวจรักษา ซึ่งการปล่อยไว้จนอาการลุกลาม อาจทำให้แผลในกระเพาะอาหารเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น

  • ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร : ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นสีดำเหลว วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และหน้ามืด
  • กระเพาะอาหารทะลุ : ผู้ป่วยจะปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสถูก มีอาการท้องบวมและแข็งตึงกว่าปกติ
  • กระเพาะอาหารอุดตัน : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สามารถทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น

 


ดูแลรักษาอย่างไร? ให้ห่างไกลจาก “แผลในกระเพาะอาหาร”

แพทย์จะให้ยาลดกรดหรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร และหากพบเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร ในกระเพาะ จะต้องทานยากำจัดเชื้อชนิดนี้ร่วมด้วย โดยจะต้องทานยารักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ อีกทั้งยังต้องอาศัยการลดพฤติกรรมเสี่ยงร่วมด้วย เพื่อให้แผลหายกลับเป็นปกติโดยเร็วที่สุด เช่น งดดื่มเครื่อมดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และควรทานอาหารที่ย่อยง่าย รสอ่อนๆ ไม่ควรทานอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด

ทั้งนี้ หากทานยารักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้วพบว่าตนเองมีอาการไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม

 


ลดความเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารได้...แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โรคแผลในกระเพาะอาหาร แม้รักษาจนหายดีแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่รู้จักป้องกันหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารอีก ควรลดความเสี่ยงด้วยการปฏิบัติดังนี้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วมผสมของแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่


สิ่งที่ควรทำ

  1. ทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ปรุงสุก สะอาด
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อคลายความเครียด
  4. วางแผนการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบแต่มีความยืนหยุ่นผ่อนคลาย เพื่อลดความวิตกกังวล

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
  2. การสูบบุหรี่
  3. การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน หรือยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ บางประเภท หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  4. การทานอาหารรสจัด อาหารเย็นจัด-ร้อนจัด

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn