การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง คือการตรวจอะไรบ้าง
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
11-ต.ค.-2566

หลาย ๆ ท่านอาจจะมีความสงสัย หรืออยากที่จะตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะตรวจส่วนบนหรือส่วนล่าง เพื่อให้ได้ทราบในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทราบถึงสาเหตุของโรคที่ตนเองกำลังสงสัยอยู่

การตรวจอัลตร้าซาวด์คืออะไร
การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound Scanning) เป็นการตรวจด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สะท้อนไปที่อวัยวะภายในที่ต้องการแล้วแปลงเป็นสัญญาณภาพ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ โดยทั่วไปการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องไม่ทำให้เจ็บ เพราะเป็นเพียงการใช้หัวตรวจเคลื่อนไปบนผิวหน้าท้องภายนอก ไม่ต้องมีการใช้ยาชาหรือฉีดยา อีกทั้งคลื่นเสียงที่ใช้ก็มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ทำไมต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ?
 เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจอวัยวะภายในช่องท้องเพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อในตับ ก้อนเนื้อในไต ก้อนเนื้อในมดลูก ถุงน้ำรังไข่ นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี
 กรณีที่สงสัยว่ามีก้อนในช่องท้อง ช่วยแยกว่าก้อนนั้นน่าจะมาจากอวัยวะใดและลักษณะของก้อนนั้นว่ามีส่วนประกอบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
 เมื่อมีอาการปวด ตึง หรือแน่นท้อง หรือมีการเพิ่มขนาดของอวัยวะในช่องท้อง หรือผลเลือดแสดงว่าค่าการทำงานของตับ ค่าการทำงานของไต หรือค่าสารบ่งชี้มะเร็ง ผิดปกติ
 ตรวจเพื่อติดตามความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง ทั้งเพื่อเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ  หรือเพื่อติดตามความผิดปกติที่ได้รับการรักษาไปแล้ว

การตรวจอัลตร้าซาวด์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)
2. การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen)


ไขข้อข้องใจ เราควรตรวจอัลตร้าซาวด์ส่วนบน หรือส่วนล่าง ?

1. การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)
เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดีส่วนต้น ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่ ตับอ่อน (ในบางรายเห็นได้บางส่วน) ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วที่ไต นิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น

ใครบ้างที่ควรตรวจช่องท้องส่วนบน
 ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง
 ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป

2. การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen)
เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ มดลูก รังไข่(ผู้หญิง) ขนาดของต่อมลูกหมาก(ผู้ชาย) กระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง(ในกรณีสงสัยไส้ติ่งอักเสบ) และบริเวณช่องท้องส่วนล่าง อื่น ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ก้อนเนื้อในมดลูก ต่อมลูกหมากผิดปกติ เป็นต้น เป็นการตรวจโดยใช้หัวตรวจ ทำการตรวจบริเวณหน้าท้อง

ใครบ้างที่ควรตรวจช่องท้องส่วนล่าง
 ส่วนมากมักตรวจกันในกลุ่มผู้หญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป
 ผู้ที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ หรือประจำเดือนผิดปกติ
 ผู้ชายที่มีปัญหาปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะบ่อย

ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องตรวจในขณะที่มีน้ำปัสสาวะปริมาณมากในกระเพาะปัสสาวะ (ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำเปล่าและต้องกลั้นปัสสาวะ) เนื่องจากลมในลำไส้จะบดบังมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงหรือต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำให้มองเห็นภาพอวัยวะได้ไม่ชัดเจน แต่หากมีน้ำในกระเพาะมากพอ กระเพาะปัสสาวะจะขยายออกและช่วยให้เห็นมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ชัดเจนขึ้น

เตรียมตัวอย่างไร หากต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ?
 การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) : ควรงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง โดยสามารถจิบน้ำเปล่า และรับประทานยาที่จำเป็นได้ตามเวลาปกติ
 การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen) : ควรดื่มน้ำเปล่า อย่างน้อย 1 ขวด และกลั้นปัสสาวะไว้ สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพอวัยวะภายในของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากสุขภาพอวัยวะภายในที่ดี จะส่งผลให้ภายนอกมีสุขภาพดีตามไปด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามเมื่อร่างกายมีอาการหรือมีสัญญาณเตือนของความผิดปกติ ตรวจก่อน รู้ทัน ป้องกันได้



บทความสุขภาพ
➮ เช็กความเสี่ยง โรคมะเร็งตับ 
➮ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ENDOMETRIOSIS 
➮ ถุงน้ำรังไข่ โรคใกล้ตัวที่คุณผู้หญิงต้องใส่ใจ 
➮ ปวดท้องต้องรู้ทัน อาการโรคนิ่วท่อน้ำดี 





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก รังสีวินิจฉัย X-RAY โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5126
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset