อาชีพอะไร ควรตรวจสุขภาพแบบไหน
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
27-มี.ค.-2567

อาชีพอะไร ควรตรวจสุขภาพแบบไหน

การตรวจสุขภาพอาชีวอนามัย เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยป้องกันและจัดการกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. การประเมินสุขภาพของพนักงาน : เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานมีสุขภาพที่ดีพอที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมหรืองานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทดสอบสมรรถภาพต่าง ๆ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2. การระบุปัญหาสุขภาพ : เพื่อตรวจหาและระบุปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากการทำงาน เช่น โรคที่เกิดจากการทำงาน หรืออาการบาดเจ็บจากการทำงาน เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงและข้อจำกัดในบางลักษณะงาน

3. การป้องกัน : เพื่อวางแผนการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานในอนาคต เนื่องจากโรคประจำตัว หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ

       ซึ่งควรจะต้องได้รับการตรวจและดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ที่ผ่านการอบรมด้านการดูแลสุขภาพพนักงานโดยเฉพาะ

อาชีพไหน ? ควรตรวจสุขภาพอาชีวอนามัย
        การตรวจสุขภาพอาชีวอนามัย ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน “กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. ๒๕๖๓” ซึ่งนายจ้างจะต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน และตรวจสุขภาพประจำปี แต่ก็มีงานบางประเภทที่การตรวจสุขภาพอาชีวอนามัย มีความสำคัญต่อความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานอย่างยิ่ง ดังนี้

การทำงานบนพื้นที่สูง


1. การทำงานบนพื้นที่สูง คือ การทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานที่สูงจากพื้นดินหรืออาคารตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไป ที่อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานพลัดตกลงมาได้ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียนำมาซึ่งการบาดเจ็บและพิการ นอกจากการจัดพื้นที่การทำงานให้มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานแล้ว การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานของพนักงานทำงานบนที่สูงจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากสภาวะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์หรือโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อพนักงานได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพเพื่อความมั่นใจและเพื่อความปลอดภัยในการทำงานด้วย และนอกจากนี้พนักงานทำงานบนที่สูงต้องไม่เป็นโรคที่อาจเกิดอันตรายต่อการทำงาน เช่น
 โรคลมชัก
 โรคระบบหัวใจ และทางเดินหายใจชนิดรุนแรง
 โรคทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน

ตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานทำงานบนที่สูง ตรวจอะไรบ้าง
1. ตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Physical Examination)
2. การตรวจสายตาระยะไกล (Visual Acuity Test) ตรวจการจำแนกสี (Color testing)
3. ภาพถ่ายรังสีทรวงอก (Chest X-ray)
4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
5. สมรรถภาพปอด (Spirometry)
6. สมรรถภาพการได้ยิน
7. ตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) และ ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C)

การทำงานในพื้นที่อับอากาศ

2. การทำงานในพื้นที่อับอากาศ เป็นการทำงานในสถานที่ทำงานที่มีทางเข้าออกจำกัด มีการระบายความร้อนและอากาศไม่เพียงพอ จึงอาจเป็นที่สะสมของสารเคมีสารพิษ สารไวไฟ มีออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น ถังน้ำมัน , ถังหมัก , ไซโล , ท่อ , ถ้ำ , บ่อ , อุโมงค์ , เตา หรือ ห้องใต้ดิน ซึ่งแก๊สหรือไอที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบายออกไปได้ อาจสูดดมเอาแก๊สพิษเข้าไปในร่างกาย รวมถึงอาจมีแก๊สที่ติดไฟได้ หากเกิดอันตรายเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศซึ่งมีพื้นที่จำกัดนั้น ผู้ปฏิบัติงานคนอื่นที่อยู่นอกพื้นที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ยาก ซึ่งต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สามารถทนต่อภาวะพร่องออกซิเจนได้ รูปร่างสมส่วน ไม่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคหัวใจและทางเดินหายใจที่รุนแรง ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎหมายกระทรวงแรงงาน “กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในกำรทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒”

ตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานที่ทำงานในพื้นที่อับอากาศ ตรวจอะไรบ้าง

1. ตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Physical Examination)
2. การตรวจสายตาระยะไกล (Visual Acuity Test) ตรวจการจำแนกสี (Color testing)
3. ภาพถ่ายรังสีทรวงอก (Chest X-ray)
4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
5. สมรรถภาพปอด (Spirometry)
6. สมรรถภาพการได้ยิน
7. ตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)

การทำงานสัมผัสอาหาร

3. การทำงานสัมผัสอาหาร การตรวจสุขภาพสำหรับผู้สัมผัสอาหารมีความสำคัญเนื่องจากจะสามารถช่วยระบุความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหาร ต้องได้รับการประเมินทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย และการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สามารถทำให้นายจ้างมั่นใจได้ว่าพนักงานผู้สัมผัสอาหารปราศจากโรคติดต่อ หรือสภาวะที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการจัดการอาหารอย่างปลอดภัย โดยแบบรายงานผลตรวจสุขภาพที่นิยมใช้ในการประเมินสุขภาพผู้สัมผัสอาหาร ได้แก่ สณ.11 หรือใบรับรองแพทย์ 9 โรค ซึ่งครอบคลุมโรคติดต่อผ่านทางเดินอาหารได้พอสมควร ทั้งนี้หากผู้ทำงานสัมผัสอาหารมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ตัวเหลืองตาเหลือง ควรต้องหยุดงานและเข้ารับการรักษาทันทีและจะกลับเข้าทำงานอีกครั้งควรมีใบรับรองแพทย์ที่ประเมินก่อนกลับเข้าทำงานเสมอ

ตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานที่ทำงานสัมผัสอาหาร ตรวจอะไรบ้าง

1. ตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Physical Examination)
2. ภาพถ่ายรังสีทรวงอก (Chest X-ray)
3. ตรวจเลือดหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (Anti HAV IgM)
4. ตรวจอุจจาระเพื่อหาการติดเชื้อ (Stool examination, Stool culture)
5. ซักประวัติ ตรวจร่างกายเฉพาะโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพื่อคัดกรองอาการของโรค  อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย(ไทฟอยด์) โรคบิด ไข้สุกใส คางทูม เรื้อน โรคและอาการทางผิวหนัง และ ตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส

นพ.ศุภสิน วงศ์บุญตัน


📚บทความสุขภาพ📚
📖ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน การตรวจสุขภาพคือสิ่งสำคัญ
📖การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง คือการตรวจอะไรบ้าง
📖ไขข้อสงสัย การตรวจ EST กับ ECHO ต่างกันอย่างไร
📖การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (GASTROSCOPY)




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพ  โรงพยาบาลเปาโล เกษตร 
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5129
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset