รับมืออย่างไร...กับโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Treponema Pallidum (ทริปโปนีมา พัลลิดุม) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางแผลและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย แต่ไม่ได้ติดต่อจากสารคัดหลั่งเหมือนกับโรคหนองในหรือโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์อื่นๆ
เชื้อซิฟิลิส ติดต่อทางไหนได้บ้าง ?
เราจะได้รับเชื้อซิฟิลิสจากการสัมผัสแผลตามอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น ปาก อวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ซึ่งอาจได้รับเชื้อจากการออรัลเซ็กส์ การมีเพศสัมพันธ์ โดยผ่านทางผิวหนังที่มีแผลหรือเนื้อเยื่ออ่อนของเรา
ซิฟิลิสกลับมาระบาดอีกครั้งได้อย่างไร ?
แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่ผ่านมา สถิติของผู้ป่วยโรคซิฟิลิสจะลดลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จนเราเกือบเชื่อสนิทใจแล้วว่าโรคร้ายนี้กำลังจะหมดไปจากโลก แต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น "เมื่อเจ้าซิฟิลิสนี้กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน และที่น่าตกใจมากกว่านั้น คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี หรือวัยเจริญพันธุ์นั้นเอง”
โดย สาเหตุหลักที่ทำให้ซิฟิลิสกลับมาอีกครั้ง คงหนีไม่พ้น การไม่ป้องกันตัวในขณะมีเพศสัมพันธ์ เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และการได้รับข้อมูลด้านเพศศึกษาที่ไม่เพียงพอ จึงไม่ตระหนักหรือไม่มีความรู้ในการป้องกันตัวเอง เป็นต้น
อาการของโรคซิฟิลิสที่ควรรู้ และเฝ้าระวัง
หากคุณคิดว่าตัวเองหรือคู่ของคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซิฟิลิส ควรรีบมาตรวจร่างกาย และปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันหรือรักษา เพราะโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะแรกของโรค โดยโรคซิฟิลิสจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้- ระยะที่ 1 เริ่มแรก แพร่เชื้อ หากได้รับเชื้อ เชื้อจะใช้เวลาฝักตัว 21-90 วันโดยเฉลี่ย เริ่มแรกจะเกิดแผลตามอวัยวะที่สัมผัสเชื้อ แผลจะมีลักษณะเป็นขอบแข็งๆ สีแดง นูน ที่เรียกว่า แผลริมแข็ง ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บหรือระคายบริเวณแผลแต่อย่างใด บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่สังเกตด้วยซ้ำว่ามีแผลเกิดขึ้น และแผลจะหายไปเองภายใน 3-6 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 แพร่เชื้อและการแฝงตัวของเชื้อ ระยะนี้ที่พอสังเกตได้ คือจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย แต่ไม่มีอาการคันหรือระคายเคืองผิว และมักเกิดขึ้นหลังจากแผลริมแข็งเกิดขึ้นแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งในระยะนี้ ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ง่าย และอาการดังกล่าวจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 จนแผลและอาการบ่งชี้เริ่มหายไปเอง ก็มักทำให้ผู้ป่วยคิดไปว่าหายจากโรคนี้แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการเข้าสู่ระยะแฝงตัวของเชื้อแล้วเท่านั้น ซึ่งระยะนี้จะอยู่กับเราเป็นเวลาหลายปี บางรายอาจอยู่ไปตลอดชีวิตเลยก็มี
- ระยะที่ 3 การเข้าทำลายระบบต่างๆ ของอวัยวะภายในร่างกาย ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะแฝงและยังไม่เข้ารับการรักษา เชื้อแบคทีเรียนี้จะเริ่มเข้าทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท การมองเห็น ไขสันหลัง หัวใจ เส้นเลือด ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่สะดวก ชาตามตัว ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลงจนกระทั่งทำให้ตาบอด ไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันและการรักษา
การสวมถุงยางอนามัยเป็นการลดความเสี่ยงของการติดโรคเท่านั้น เราจึงควรป้องกันก่อนโรคจะถึงตัว ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า นอกจากนี้หากเรามีความเสี่ยง ควรตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อทำการรักษาก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น เป็นการจำกัดขอบเขตของโรคไม่ให้แพร่กระจายไปสู่คู่ของเราและคนอื่นๆ ในสังคม สำหรับการรักษาโรคซิฟิลิสในปัจจุบัน สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เพนิซิลลิน โดยการใช้ยารักษาจะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น