ปวดหลัง ร้าวลงขา เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
27-มี.ค.-2567

ปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลัง ร้าวลงขา เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ถือเป็นอาการที่ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะนั่นอาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้

ปวดหลัง ร้าวลงขา หากคุณปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
       อาการปวดหลังมักเป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยที่สาเหตุหลัก ๆ เกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การใช้งานในท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ การเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลังตามวัย จากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยอาการปวดหลังในบุคคลทั่วไปสามารถทุเลาหรือดีขึ้นเองได้ภายใน 2 – 4 สัปดาห์ แต่ถ้าหากอาการปวดหลังนั้นกลับมาเป็น ๆ หาย ๆ และบางวันก็มีอาการปวดหลัง ร้าวลงไปที่ขาร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดแบบนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางกระดูกสันหลัง หากปล่อยทิ้งไว้นานอาการอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น

อาการปวดหลังร้าวลงขา ที่อาจเสี่ยงหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นอย่างไร ?
         เป็นอาการปวดหลังบริเวณเอว ร้างลงมาบริเวณสะโพก และร้าวลงมาปวดขาข้างเดียว หรืออาจปวดทั้งสองขาก็ได้ โดยลักษณะจะเป็นการปวดอยู่ข้างใน ไม่มีจุดที่กดเจ็บชัดเจน อาจมีอาการปวดจนขาชา และปวดจนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรก อาการมักจะสัมพันธ์กับท่าทาง การใช้งาน เช่น ปวดเฉพาะเวลาที่นั่งนาน ยืนนาน ขับรถนาน พอได้นอนพักอาการก็จะดีขึ้น เมื่อมีการกดทับมากขึ้น อาการปวดอาจเพิ่มมากขึ้นจนปวดตลอดเวลา ปวดหลัง ปวดขามากจนไม่สามารถเหยียดขาให้ตรงได้

สาเหตุของอาการปวดหลังร้าวลงขา ที่พบได้บ่อย
1. กล้ามเนื้ออักเสบ เมื่อกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างได้รับการบาดเจ็บจากการใช้งานในท่าทางซ้ำ ๆ หลายครั้ง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งอย่างรุนแรง ในบางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดตึงร้าวลงไปที่สะโพก และปวดขาได้ แต่มักไม่มีอาการปวดขาจนขาชา หรือปวดขาจนขาอ่อนแรงร่วมด้วย

2. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้น ทำให้เกิดปัญหาการกดของเส้นประสาทที่ออกมาบริเวณรูกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกส่วนนี้ไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการปวดแปล๊บร้าวลงไปที่ปลายขา โดยอาจร้าวจากหลังหรือเอวลงมาปวดที่ขาร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในท่านั่ง หรือมีการนั่งงอตัวไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุด ซึ่งโรคนี้พบมากในวัยทำงาน

3. กระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากการเสื่อมตามวัยของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอกหรือเคลื่อนมาทับเส้นประสาท ส่งผลให้ปวดร้าวจนเกิดอาการปวดขาตามมา โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

ปวดหลังแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์ ?
ผู้ที่มีอาการปวดหลัง และสงสัยว่าต้องพบแพทย์หรือไม่ สามารถสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการดังนี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
👉 มีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์
👉 ปวดหลังร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า และมีอาการชาร่วมด้วย
👉 ปวดรุนแรงมากในตอนกลางคืน
👉 มีอาการขาอ่อนแรง ไม่สามารถกระดกข้อเท้าได้
👉 ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้หรือปัสสาวะไม่ออก

การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังร้าวลงขา
แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยอาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

เมื่อผลตรวจยืนยันว่าเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจะต้องทำการรักษาอย่างไร ?
การรักษาจะมีตั้งแต่ การรับประทานยา ฉีดยาและกายภาพบำบัด ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจุบันอาการปวดหลังร้าวลงขาจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปที่ทำให้แผลผ่าตัดเล็กลงกว่าเดิม ผู้ป่วยมีการเสียเลือดที่น้อยลง การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลดลงและสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม

          หากคุณกำลังมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ควรรีบเข้ารับการปรึกษาแพทย์ที่ชำนาญการเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ โดยทางโรงพยาบาลเปาโล เกษตร มีทีมศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ ชำนาญการเฉพาะทางที่พร้อมให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทุกชนิด ให้คำปรึกษา ดูแลรักษาอย่างครบวงจรและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้กลับไปใช้ชีวิตและกิจกรรมที่ตนเองรักอย่างมีความสุข



📚บทความสุขภาพ📚
📖หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตในยุคสังคมก้มหน้า
📖เสริมความแข็งแรงให้กระดูกสันหลัง ด้วยวิธีเวอร์ติโบรว์พลาสตี้ (VERTEBROPLASTY)
📖ยกเวท ยกของหนัก อาจทำให้เอ็นไหล่ฉีกขาด
📖เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีก หากไม่รีบรักษา เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต


 



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset