ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ...ความไม่สมดุลของร่างกายที่เกิดจากพฤติกรรม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
26-มี.ค.-2567

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ...ความไม่สมดุลของร่างกายที่เกิดจากพฤติกรรม

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากมีพฤติกรรมเข้าข่ายให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นหากมีความรู้เกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไว้ ก็สามารถช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่นได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

 


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร?

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 50 มก./ดล. (ในผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจพบน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.) โดยอาจเกิดขึ้นได้อย่างกระทันหัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักรู้สึกตัวเมื่อมีอาการและสามารถรักษาระดับอาการได้ด้วยตัวเอง หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการและปล่อยไว้ไม่รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สมองพิการ หรือเสียชีวิตได้

 

สาเหตุของการเกิด “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”

  1. กินอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ตรงเวลา
  2. ฉีดอินซูลินเกินขนาด หรือการใช้ยาบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  3. ออกกำลังกายมากเกินควร
  4. ดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

 


อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ...สังเกตได้จากอาการเหล่านี้!

  • ตัวสั่น กระสับกระส่าย
  • เหงื่อออกมาก
  • รู้สึกหิวรุนแรง
  • หัวใจเต้นแรง
  • ชาปลายนิ้วมือ ปลายเท้า หรือรอบปาก
  • มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • หน้ามืด ตาลาย
  • สับสน
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่รู้สึกตัว ชัก หรือาจถึงขั้นหมดสติ

 

ใครบ้างเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”

  • ผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 10 ปี
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับหรือโรคไต
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยกระทันหันด้านร่างกายและจิตใจ

 


ดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร? เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากเกิดมีอาการไม่รุนแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้ปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้วิธีใดวิธีหนึ่ง

  • อมลูกอม 2 เม็ด หรือน้ำตาล 2 ก้อน
  • ทานน้ำตาล น้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม 3 ช้อนชา
  • ทานส้ม 2 ลูก หรือกล้วยน้ำว้า 1 - 2 ผล
  • ดื่มน้ำผลไม้ 1/2 ถ้วย โดยต้องไม่ใช่น้ำผลไม้แบบแคลอรี่ต่ำหรือลดน้ำตาลลง  
  • ดื่มน้ำอัดลม 1/2 กระป๋อง โดยต้องไม่ใช่น้ำอัดลมแบบแคลอรี่ต่ำหรือลดน้ำตาลลง
  • ไอศกรีม 2 สกูป
  • ขนมปัง 1 แผ่น

อาการมักดีขึ้นภายใน 15 - 20 นาที หลังได้รับอาหารในปริมาณดังกล่าว แต่หากมีอาการรุนแรงจนไม่รู้สึกตัว ห้ามให้อาหารหรือน้ำแก่ผู้ป่วยเด็ดขาด โดยให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีหรือเรียกรถพยาบาลฉุนเฉิกเพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 


ดูแลตัวเองอย่างไร...ให้ไกลโรคภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

  1. ควบคุมอาหารและรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
  2. ฉีดยาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
  3. ออกกำลังกายอย่างพอดี หรือควรมีอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
  4. ตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

 

หากทราบว่าตนเองมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรปฏิบัติตัวตามนี้ร่วมด้วย

  1. ควรมีลูกอม หรือน้ำตาลก้อนติดตัวไว้ ยามฉุกเฉิน
  2. แจ้งญาติหรือผู้ใกล้ชิดให้ทราบว่าเป็นโรคเบาหวานและอธิบายวิธีการช่วยเหลือเมื่อมีอาการผิดปกติ
  3. พกบัตรประจำตัวผู้ป่วยเบาหวานตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน ในกรณีฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ถูกต้องและทันท่วงที
  4. ควรแจ้งแพทย์ทุกท่านในกรณีที่ต้องรับประทานยารักษาโรคอื่นร่วมด้วย
  5. ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือวิทยากรเบาหวาน หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ

 

หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

              นอกจากนี้การปล่อยให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้ง อาจส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและสมอง ทำให้อาการเตือนทางระบบประสาทอัตโนมัติลดลง และยังส่งผลให้พบอาการทางสมองที่รุนแรงขึ้นได้ในภายภาคหน้า

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn