แคลเซียมในเลือดผิดปกติ อันตรายกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโล
11-พ.ย.-2567

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดย 99% ของแคลเซียมจะถูกใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนอีก 1% นั้นจะอยู่ในเลือด ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาท ซึ่งปกติแล้วร่างกายก็จะมีการผลิตฮอร์โมนหลายชนิดขึ้นมาเพื่อควบคุมสมดุลแคลเซียมในเลือดให้เหมาะสม เพราะปริมาณแคลเซียมในเลือดที่ผิดปกติเพียงนิดเดียวนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายชนิดที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ร่างกายผลิตแคลเซียมได้เองหรือไม่?

แม้ว่าแคลเซียมจะมีอยู่ในร่างกาย แต่ร่างกายก็ไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียมเองได้ จึงต้องรับแคลเซียมจากอาหารที่ผ่านการย่อยและดูดซึมในบริเวณลำไส้เล็ก ซึ่งก็สามารถดูดซึมได้เพียง 20-25% เท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระ

แคลเซียมในเลือดผิดปกติ คืออะไร?

ปกติแล้วปริมาณแคลเซียมในเลือดของผู้ใหญ่ จะมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 8.8-10 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากตรวจพบว่ามีค่าแตกต่างไปจากนี้ อาจเข้าข่ายภาวะแคลเซียมในเลือดผิดปกติ โดยแบ่งออกเป็น

  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ (Hypercalcemia)
  • ภาวะนี้มักเกิดจากภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี วิตามินเอ หรือแคลเซียมเสริมมากเกินไป รวมทั้งอาจพบได้ในผู้ที่เป็น โรคไต วัณโรค โรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่กระดูก และผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย มีการกดทับที่กระดูกเป็นระยะเวลานาน ทำให้กระดูกคลายแคลเซียมเข้าสู่เลือด

    โดยผู้ที่มีปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงไม่มากนัก มักจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่ในรายที่แคลเซียมในเลือดสูงรุนแรง อาจแสดงอาการแตกต่างกันไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย สับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น รวมไปถึงกระดูกบาง แตกหักได้ง่าย

  • ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia)
  • เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียปริมาณแคลเซียม หรือไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้เท่าที่ควร หรือมีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ ทำให้ดูดซึมแคลเซียมได้ยากขึ้น และอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคหรือการใช้ยาต่างๆ เช่น โรคตับ ตับอ่อนอักเสบ ไตวาย การใช้ยาเคมีบำบัด การถ่ายเลือด รวมไปถึงภาวะเครียด หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง

    ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มักมีอาการ เวียนศีรษะ เป็นตะคริว ชาบริเวณใบหน้า มือ และฝ่าเท้า กระดูกเปาะ ทรงตัวลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ และอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย

รู้ทัน ปริมาณแคลเซียมในเลือด

การตรวจวัดระดับปริมาณแคลเซียมในเลือดสามารถทำได้ โดยการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ใช้ระยะเวลาในการตรวจไม่นานก็สามารถทราบผลได้ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการทานวิตามินเสริมอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ และหากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร กลุ่มยารักษาโรคหลอดลม ยาขับปัสสาวะ และยาระบาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการตรวจ

อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดระดับแคลเซียมในเลือดไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้กับแพทย์ผู้ตรวจ


หากคุณกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองหรือคนที่คุณรัก? วางแผนล่วงหน้าด้วยแผนประกันสุขภาพ คุณจะได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุม ทั้งค่ารักษาพยาบาล (กรณีป่วยแอดมิทเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ค่าห้อง ค่าบริการทางการแพทย์และค่ายา การมีประกันสุขภาพสามารถช่วยให้การจัดการกับผลข้างเคียงราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แล้วคุณจะได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นใจและสบายใจทุกวัน

หากสนใจศึกษาข้อมูลการวางแผนทำประกันสุขภาพ แผน Exclusive Care @ BDMS สามารถโทรปรึกษาฟรีได้ทันที 02-822-1155 หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Allianz Ayudhya