-

แพทย์หญิงศิริพร ประยูรหงษ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวชทั่วไป

วุฒิบัตร

ศูนย์สุขภาพสตรี│WOMEN CENTER
วัน เวลา
อังคาร 08:00 - 16:00
พุธ 09:00 - 14:00
พฤหัสบดี 08:00 - 17:00
ศุกร์ 09:00 - 20:00
เสาร์ 08:00 - 20:00

พญ.ศิริพร ประยูรหงษ์

สูติ-นรีแพทย์
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • เภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • แพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
  • วุฒิบัตรสูติ-นรีเวช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

"ผู้หญิงมักจะกลัวการตรวจภายใน คือจะมีความเขินอาย ฉะนั้นการเป็นหมอสูติ-นรีเวช จะต้องมีความใจเย็น ต้องค่อยๆ พูดคุยให้ผู้ที่มาตรวจเกิดความไว้ใจและมีความเชื่อมั่น เพราะเขาต้องคิดแล้วคิดอีกในการจะมาเจอหมอ หมอจึงต้องดูแลและพร้อมคุยกับเขาในทุกปัญหา การตรวจก็ต้องพิถีพิถัน ใช้น้ำหนักมือที่เบาพอสมควร เพราะถ้าทำแล้วเจ็บ คนไข้ก็จะฝังใจว่ามันเจ็บ โอกาสที่เขาจะกลับมาตรวจอีกในปีต่อไปก็ยากแล้ว ซึ่งก็ทำให้คนไข้เสียโอกาสในการตรวจคัดกรองโรคและรักษาโรค"

ก่อนที่ พญ.ศิริพร ประยูรหงษ์ จะมาเป็นสูติ-นรีแพทย์นั้น คุณหมอจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ซึ่งเป็นโครงการร่วมผลิตแพทย์ระหว่างจุฬาฯ กับโรงพยาบาลภูมิพล มาก่อน และก่อนหน้านี้ยังจบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

"ตอนแรกเลย หมอจบเภสัชศาสตร์ จากจุฬาฯ แล้วก็ไปใช้ทุนเภสัชฯ 2 ปี ที่โรงพยาบาลคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ที่นั่นหมอได้เห็นการทำงานของแพทย์ การสั่งยาต่างๆ ก็เกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ! ทำไม หมอสั่งยาตัวนั้นตัวนี้แตกต่างกัน ช่วงนั้นก็ได้รู้จักกับโครงการผลิตแพทย์ร่วมของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จึงตั้งใจอ่านหนังสือและสอบเข้าเรียนได้ พอได้มาเรียนแพทย์จริงๆ ก็ทำให้รู้ว่า ทำไมคุณหมอถึงคิดแบบนั้น ตอนนั้นหมอก็ชอบด้านศัลยศาสตร์ การผ่าตัดต่างๆ การทำหัตถการใดๆ ไม่ว่าจะผ่าอะไรหมอจะตั้งใจทำให้ดี อยากให้แผลออกมาสวยดูดี พอคนไข้บอกว่าแผลสวย หมอก็ดีใจและภูมิใจ สุดท้ายที่มาเลือกศึกษาต่อด้านสูติ-นรีเวช ก็เพราะเราก็เป็นผู้หญิงการจะทำผ่าตัดใหญ่ๆ แบบศัลยกรรมหนักๆ อาจจะไม่เหมาะกับเรา ทุกวันนี้ก็มีความสุขและรู้สึกว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเป็นแพทย์ด้านนี้"

โรคนรีเวช ต้องใส่ใจทั้งการดูแล ป้องกัน และรักษา

โรคทางนรีเวชที่คุณหมอศิริพร พบและรักษาบ่อย คือ โรคปวดท้องประจำเดือน ซึ่งคนไข้ส่วนมากจะไม่ค่อยรู้ว่าอาการปวดท้องประจำเดือนนั้นคือโรคอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ ในหลายๆ ราย อาการปวดประจำเดือนก็ลุกลามหนักจนต้องมาพบแพทย์ ณ ตอนนั้นการดูแลรักษาก็อาจไม่ดีเท่ากับตอนที่ปวดน้อยๆ อยู่ หลายคนก็ไม่รู้ว่าโรคปวดท้องประจำเดือนสามารถนำไปสู่การมีบุตรยากได้ ดังนั้นใครที่กำลังวางแผนว่าจะมีบุตรก็ควรปรึกษาแพทย์ว่าการปวดประจำเดือนของตนนั้นมีสาเหตุจากอะไร และต้องรักษาอย่างไร...

"นอกจากโรคปวดท้องประจำเดือนแล้ว อีกโรคที่พบบ่อยคือ ประจำเดือนมาผิดปกติ คือมีทั้งมาเยอะเกินไปหรือไม่มาเลย พวกที่มาเยอะเกินก็ต้องดูว่ามีสาเหตุมาจากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติไหม หรือปากมดลูกมีก้อนหรืออะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เลือดออกผิดปกติหรือเปล่า เราไม่ควรรอให้ลุกลาม ควรมาพบหมอทันทีเมื่อมีอาการ บางคนไปกินยาขับน้ำคาวปลาเพื่อให้ประจำเดือนมา บางครั้งอันตราย คนไข้ตกเลือดมาก็มี กับอีกกลุ่มที่ประจำเดือนไม่มาเลย ต้องมาดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะการปล่อยไว้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้วก็ได้ นอกจากสาเหตุทางนรีเวชแล้ว โรคทางอายรุกรรมบางโรคก็มีผลทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้ เช่น โรคไทรอยด์ โรคตับที่ทำให้ภาวะการหยุดเลือดมีปัญหา กรณีนี้หมอก็จะรักษาควบคู่กันไปกับคุณหมออายุรกรรม"

ฝากครรภ์ ดูแลทั้งคุณแม่และคุณลูก

ในด้าน ‘สูติ’ สำหรับคุณแม่ คุณหมอศิริพร จะดูแลตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์จนคลอด โดยการตั้งครรภ์แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เริ่มปฏิสนธิถึงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ช่วงที่ 2 อายุครรภ์ >14-28 สัปดาห์ ช่วงที่ 3 อายุครรภ์ >28-42 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละช่วงจะมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน ในช่วงแรก ต้องประเมินอายุครรภ์ ตรวจหาความเสี่ยงของคุณแม่ มีการตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติ รวมถึงการตรวจเลือดเบื้องต้น เพื่อหาดาวน์ซินโดรม ตรวจดูภาวะคู่เสี่ยงธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ช่วง 2 จะเน้นการตรวจอัลตร้าซาวด์ดูความผิดปกติของทารกเป็นหลัก ส่วนช่วง 3 จะตรวจและแนะนำเรื่องสุขภาพทั้งแม่และลูก เพราะมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ หรือเด็กใกล้คลอดอยู่ดีๆ ดิ้นน้อยลง น้ำเดิน เจ็บท้อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการคลอด ฉะนั้นแต่ละช่วงก็จะแตกต่างกันในการดูแล ซึ่งคุณหมอศิริพร อยากฝากถึงคุณแม่ทุกท่านว่า...

"เรื่องอาหารหรืออาหารเสริมที่บอกต่อๆ กันมา หมอมองว่าการกินอาหารตามปกติครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอดีกับที่เราอิ่มก็ถือว่าเป็นการบำรุงแล้ว ไม่ต้องกินเผื่อลูก การกินของหวานก็ต้องระวังเพราะอาจทำให้เป็นเบาหวานคณะตั้งครรภ์และส่งผลต่อลูกได้ ในช่วงใกล้คลอดคุณแม่ต้องสังเกตตัวเองและพร้อมที่จะมาโรงพยาบาล อย่างเช่น ลูกดิ้นน้อย บางคนคิดว่าไม่เป็นไร จริงๆ คืออยากให้คุณแม่รีบมาโรงพยาบาล เพราะการที่เด้กดิ้นน้อยเป็นการเตือนอย่างหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิต เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าชะล่าใจ หากเจอปัญหาต้องรีบให้หมอตรวจเพื่อวินิจฉัยและประเมินสุขภาพเด็กในครรภ์ หากพบความผิดปกติก็จำเป็นต้องคลอดโดยเร็ว เพื่อนำเด็กออกมาดูแลนอกครรภ์จะดีกว่า ในการทำคลอด หมอก็จะรู้สึกดีใจที่ทำให้คนคนหนึ่งได้ลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย รู้สึกภูมิใจว่าเราทำสำเร็จ และรู้สึกยิ้มไปกับครอบครัวเขา มันทำให้รู้สึกว่าเราได้ดูแลและส่งของขวัญให้ครอบครัวนี้สำเร็จแล้ว"

ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตร่างกายของตน

โรคทางนรีเวชส่วนหนึ่งมักพบเมื่อโรคลุกลามและยากต่อการรักษา ผู้หญิงทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง ถ้ามีอะไรที่ผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ ควรรู้จักสังเกตประจำเดือน การตรวจดูว่าตัวเองมีก้อนในท้องหรือไม่ โดยอย่าไปคิดว่าสิ่งที่คลำพบคือความอ้วนหรือไขมัน ที่สำคัญคือควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีหรือทุก 3 ปี ตามคำแนะนำของแพทย์ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม เพราะหากตรวจเจอว่าเป็นในระยะแรกก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้ามาตรวจพบตอนโรคลุกลามแล้วการรักษาก็จะยุ่งยากมากขึ้น โอกาสหายก็จะน้อยลง ในกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตนเองท้อง จะได้ทำการตรวจเบื้องต้น เพราะการเจอปัญหาตั้งแต่แรกจะทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่า และไม่ว่าคนไข้จะพบเจอปัญหาใดๆ คุณหมอศิริพร ก็จะร่วมสู้และแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไปด้วยกัน...

"หากหมอเหนื่อยหรือท้อกับปัญหา สิ่งแรกหมอจะมองว่า หมอต้องดูแลรักษาคนไข้ทุกคนให้ดี ถ้าเกิดมีปัญหาแล้วท้อหรือหมดแรงใจ ก็จะส่งกระทบกับการดูแลคนไข้คนนั้นและคนอื่นๆ ดังนั้นหมอจะรีบตั้งสติ แล้วมองหาวิธีที่การแก้ปัญหาให้ดีที่สุด และนำปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดในอดีตมาเป็นประสบการณ์และนำมาพัฒนาตนเอง เพื่อการเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในทุกๆ วัน"