-

แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์

แพทย์ประจำสาขา ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ

วุฒิบัตร

-
วัน เวลา
จันทร์ 08:00 - 20:00
อังคาร 08:00 - 20:00
พุธ 08:00 - 20:00
พฤหัสบดี 08:00 - 20:00
ศุกร์ 08:00 - 17:00
อาทิตย์ 08:00 - 17:00

พญ.พรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์

แพทย์ประจำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต
  • อาชีวเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ความเสี่ยงในการทำงานของแต่ละอาชีพมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าในด้านกายภาพ ชีวภาพ อุบัติเหตุ ที่มีผลกระทบกับสุขภาพของคนทำงานอย่างไม่รู้ตัว บางคนทำงานบริษัทเดิมนานถึง 10 ปีแต่ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย หากบริษิทใดมีการดูแลสุขภาพพนักงานที่ดีก็จะจัดให้มีการตรวจสุขภาพ มีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องป้องกัน และมีการหมุนเวียนตำแหน่งเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้คนใดคนหนึ่งอยู่กับความสภาพแวดล้อมเดิมนานเกินไป เช่น บางคนทำงานเกี่ยวกับตะกั่วอยู่เป็น 10 หรือ 20 ปี ไม่ได้เว้น ไม่ได้หมุนไปทำงานอื่นๆ ก็จะได้รับสารเคมีเดิมสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ"

หลังจาก พญ.พรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต แล้ว คุณหมอได้มีโอกาสไปเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ทำหน้าที่แพทย์ในทุกๆ แผนกของโรงพยาบาล ทั้งยังได้ไปทำงานในโรงพยาบาลในชุมชนอีกด้วย ซึ่งคุณหมอเล่าว่า...

"ก่อนที่หมอจะไปภูเก็ต ได้ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพตามบริษัทและโรงงานต่างๆ หมอก็มีแนวคิดว่า ถ้าเราสามารถป้องกันให้เขาได้ก่อนที่เขาจะเป็นโรคมันก็จะดีกว่า เพราะจากที่ได้พูดคุยกับหลายๆ คนที่เราตรวจ คือเขาก็จะไม่รู้เรื่องการดูแลสุขภาพเลย ไม่รู้ว่าควรจะป้องกันตัวเองอย่างไร เขาแค่มาให้เราตรวจตามหน้าที่ บางคนแม้จะพบแล้วว่าผลเลือดผิดปกติและเสี่ยงต่อหลายโรคแล้ว เขาก็แค่รับทราบ แต่ก็ไม่ทำอะไรต่อ ไม่อยากรักษา กลัวเสียเวลา ไม่อยากขาดงาน ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ เขามองว่าสุขภาพเขายังปกติดีเพราะยังไม่มีอาการแสดงออกมา แต่จริงๆ มันจะเริ่มในไม่ช้าแล้ว ต้องรีบรักษาแล้ว"

อาชีวเวชศาสตร์ เพื่อการป้องกันก่อนเกิดโรค

คุณหมอพรทิพย์ อธิบายว่า อาชีวเวชศาสตร์ เป็นแขนงหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน จะว่าไปก็คือการป้องกันการเกิดโรคจากการประกอบอาชีพ แพทย์จะเน้นที่การตรวจหาโรคและสาเหตุ ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการรักษา เพราะการรักษาก็จะเป็นเรื่องของโรคหรืออาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ซึ่งก็จะส่งต่อให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญในโรคนั้นๆ เป็นผู้ดูแลต่อ

ปกติแล้วการตรวจ จะเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป มีวัดความดัน วัดชีพจร ส่วนสูง น้ำหนัก ตรวจเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ไขมัน ค่าตับ ค่าไต เอกซเรย์ปอด ตรวจปัสสาวะ แต่บางบริษัทก็จะมีให้ตรวจเพิ่มในเรื่องของความเสี่ยงจากการทำงานที่เฉพาะเจาะจง เช่น เรื่องการได้ยิน ตรวจสมรรถภาพการมองเห็น ระดับสารเคมีที่สัมผัสขณะทำงาน ระดับสารตะกั่วหรือระดับสารพิษที่พนักงานคนนั้นๆ ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิด หากพบโรคหรือพบความเสี่ยงสูง คุณหมอก็จะส่งคนไข้ไปยังแผนกต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อการตรวจเพิ่มเติมหรือทำการรักษาที่ลงลึกจากแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งคุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า...

"ผู้ที่เข้ามาตรวจ มีทั้งการตรวจก่อนเข้าทำงาน ตรวจระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นการตรวจตามความเสี่ยงจากลักษณะงานที่ทำ หรือตรวจประจำปี อย่างพนักงานที่ต้องไปทำงานบนแท่นขุดเจาะ ในที่อับอากาศ หรือบนที่สูง ก็ต้องตรวจให้รู้ว่าสุขภาพเอื้ออำนวยต่อการทำงานไหม เพราะสมรรถภาพทางร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องมีความพร้อมด้านสุขภาพจึงทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเวลาที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เช่น ปกติทำงานออฟฟิศ แล้วต้องออกไปทำงานภาคสนาม ก็ต้องมาตรวจก่อนว่าพร้อมไหม แล้วก็ตรวจหลังจากการทำงาน เช่น การตรวจเพื่อเตรียมเกษียณ หรือแม้แต่คนไข้ที่พักงานจากอาการเจ็บป่วยนานๆ พอจะกลับเข้าทำงานก็ต้องตรวจก่อน อย่างเช่น คนไข้ประสบอุบัติเหตุแล้วหยุดงานรักษาตัวนาน ก็ต้องตรวจว่าเขาสามารถกลับไปทำงานเดิมได้ไหม อาการที่เขาบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยตอนนี้เป็นอย่างไร กระดูกที่หักประสานดีหรือยัง แขนขาใช้งานได้ดีหรือมีอุปสรรคในการทำงานไหม จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวพนักงานไหม หลายๆ เคสก็ต้องอาศัยคุณหมอเฉพาะทางเป็นผู้ตรวจประเมินร่วมด้วย"

สร้างความเข้าใจให้กับคนไข้ทุกราย

"โรคที่พบบ่อย ก็จะเป็นอาการทั่วๆ ไป เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ส่วนโรคที่เกิดจากการทำงานจริงๆ ก็พบอยู่บ่อยๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้อาจจะไม่ได้คิดถึง เช่น หูมีความผิดปกติ การได้ยินไม่ค่อยดีแล้ว เพราะทำงานในที่ที่เสียงดังแล้วไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่เขาคิดว่าเป็นเพราะอายุมากขึ้นหูก็เสื่อมไปตามเวลา ไม่ได้คิดว่าเกิดจากการทำงาน หมอก็ต้องชี้ให้เห็น และให้เขาป้องกัน ดูแลตนเองให้มากขึ้น หรือถ้าจำเป็นต้องรักษาก็รีบรักษาก่อนลุกลาม"

ทุกครั้งเมื่อคุณหมอพรทิพย์ พบว่าคนไข้มีปัญหาสุขภาพที่ค่อนข้างหนักจนไม่เหมาะที่จะทำงานประเภทนั้นๆ ได้ คุณหมอก็จะอธิบายให้คนไข้เข้าใจถึงเหตุผล สุขภาพ และอันตรายหากไปทำงานนั้นๆ นอกจากนี้คุณหมอจะติดตามความคืบหน้าจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่ดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาพร้อมการป้องกันไม่ให้โรคหรืออาการลุกลาม...

"ความท้าทายคือ ถ้าคนไข้ที่บริษัทให้มาตรวจเมื่อเกิดโรคหรือมีความผิดปกติใดๆ เช่น ผลเลือดผิดปกติ หมอก็ต้องพูดคุยซักประวัติกับคนไข้และสืบหาให้ได้ว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ และยังกลับไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่และความเสี่ยงเดิมได้ไหม เพราะบางทีก็ควรเปลี่ยนสถานที่ทำงาน อย่างเช่น พนักงานที่จะส่งไปทำงานแท่นขุดเจาะ ถ้ามีผลเลือดผิดปกติ หมอก็ต้องส่งคนไข้ให้คุณหมออายุรกรรมตรวจประเมินเพิ่มเติม และวินิจฉัยว่าเขาสามารถที่จะไปทำงานได้ไหม มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตมากน้อยแค่ไหน"

ทั้งนี้ คุณหมอได้ยกตัวเองกรณีคนไข้รายหนึ่งว่า...

"หมอเคยเจอเคสหนึ่ง คนไข้ต้องการจะไปทำงานแท่นขุดเจาะ ก็ต้องมาเอกซเรย์ปอดก่อน แล้วเราเจอว่าปอดผิดปกติ พอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ผิดปกติอีก จากการตรวจทั้งหมดก็สงสัยว่าอาจจะมีก้อนในช่องอก เลยต้องส่งไปปรึกษาคุณหมอหัวใจ สรุปว่าเคสนี้พบเป็นไส้เลื่อนขึ้นไปบริเวณช่องอกซึ่งไม่ใช่ก้อนเนื้อ จึงไม่อันตรายมาก ก็ทำการรักษาจนหายและไปทำงานได้ตามปกติ"

เพราะสุขภาพสำคัญที่สุด

การที่เราจะทำงานเลี้ยงชีพได้อย่างมีความสุข การมีสุขภาพดีก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณหมอพรทิพย์ จึงฝากข้อคิดไว้ว่า...

"เราควรดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดโรคในอนาคต ไม่ใช่ว่าทำงานมาทั้งชีวิต สรุปสุดท้ายต้องมาเสียเงินกับการรักษาตัวเอง ความสุขในวัยเกษียณก็จะหายไป บางคนทำงานเป็นกะ พอง่วงก็ดื่มกาแฟใส่น้ำตาลใส่นม ดื่มจนเป็นเบาหวาน ทำให้ต้องกินยาตลอดชีวิต ต้องไปหาหมอบ่อยๆ เผลอๆ อาจเป็นโรคไต ไหนจะต้องระวังแผลติดเชื้อหายยาก บางคนถึงขนาดต้องตัดขา และการที่ต้องทำงานอยู่ในสถานที่เสี่ยงต่างๆ ก็ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นที่อุดหู แว่นตา ถุงมือ หมวกนิรภัย แม้จะไม่สะดวกบ้างแต่ก็ดีกว่าต้องเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุจนทำให้เสียสุขภาพหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต"