-
วัน | เวลา |
จันทร์ | 08:00 - 17:00 |
อังคาร | 08:00 - 17:00 |
พุธ | 08:00 - 17:00 |
พฤหัสบดี | 08:00 - 17:00 |
ศุกร์ | 08:00 - 17:00 |
ศัลยแพทย์ทั่วไป
รพ.เปาโล สมุทรปราการ
"คนไข้ที่หมอดูแล หลักๆ ก็จะเกี่ยวกับโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัดในช่องท้อง กับกรณีที่คนไข้ประสบอุบัติเหตุมา เวลาผ่าตัดเราไม่ได้คิดว่าจะเสียเวลามากน้อยแค่ไหน เพราะเราสนใจแต่คนไข้อย่างเดียว เราดูที่ความปลอดภัยและคำนึงถึงผลการรักษาเป็นหลัก ไม่รู้หรอกว่าเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมงแล้วจนเงยหน้ามามองนาฬิกา"
นพ.อนุชิต ศรีวิโรจน์ จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นคุณหมอได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลในจังหวัดอุทัยธานี ด้วยความชอบในการทำหัตถการ คุณหมออนุชิตจึงได้ศึกษาต่อยอดเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมทั่วไป ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคุณหมอเล่าว่า...
"ช่วงที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มากๆ น่าจะเป็นช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุนใหม่ๆ เพราะต้องเจอกับคนไข้เป็นจำนวนมาก และการเป็นหมอใหม่ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญไม่มากนัก เมื่อต้องเจอกับปัญหาใหญ่ๆ ของคนไข้ที่มีอาการหนัก ก็จำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์เฉพาะทาง ที่หมอเลือกทำงานอยู่ในแผนกศัลยกรรมเพราะมีความชื่นชอบ และทำให้เราได้เห็นการทำงานของแพทย์รุ่นพี่ๆ ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อด้านนี้อย่างจริงจัง"
ที่ รพ.เปาโล สมุทรปราการ นอกจากคุณหมอจะทำหน้าที่ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังดูแลด้านการพัฒนาระบบคุณภาพของโรงพยาบาล เพื่อการพัฒนาองค์กร และการให้บริการที่มีคุณภาพอีกด้วย
ก่อนการผ่าตัด (ศัลยกรรม) ต้องตรวจประเมินและเตรียมความพร้อม
ปกติแล้วการรักษาโรคจะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ต้องผ่าตัด และกลุ่มที่ไม่ต้องผ่าตัด กลุ่มที่ไม่ต้องผ่าตัดอาจเป็นพวกติดเชื้อ อักเสบธรรมดา ซึ่งใช้วิธีรักษาด้วยการให้ยาก็หาย หรือบางโรคที่ยังไม่ถึงเวลาต้องผ่าตัด เช่น เป็นนิ่วในถุงน้ำดีที่ยังไม่มีอาการ หรือเป็นมะเร็งในตำแหน่งหรือระยะที่ทำการผ่าตัดไม่ได้แล้วก็ต้องใช้วิธีรักษาแบบอื่น หรือหากคนไข้มีแผลจากอุบัติเหตุหรือแผลไฟไหม้ก็มีวิธีการรักษาหรือการผ่าตัดที่แตกต่างกันไป
ในกรณีที่ต้องผ่าตัด ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนสำคัญ คือต้องตรวจสุขภาพและเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุหรือคนไข้ฉุกเฉิน ต้องประเมินอาการเบื้องต้นของคนไข้ก่อนว่า คนไข้พร้อมได้รับการผ่าตัดหรือหรือต้องดูแลจุดอื่นก่อน ต้องประเมินถึงภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน รวมถึงมีแผนสำรองเพื่อความปลอดภัยของคนไข้เสมอ...
คนไข้ไม่ได้ต้องการแค่การรักษา แต่ต้องการรู้ว่าเขาเป็นโรคอะไร และควรทำอย่างไร?
การรักษาคนไข้ คุณหมออนุชิต จะให้ความสำคัญกับการอธิบายถึงสิ่งที่คนไข้เป็นหรือกำลังเผชิญอยู่ คนไข้ต้องรู้ว่าเข้าเป็นโรคอะไร เข้าใจในตัวโรค และรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อผลการรักษาที่ดี เพราะการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์เพียงอย่างเดียว ต้องอยู่ที่การปรับพฤติกรรม การทำตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันด้วย...
"โดยเฉพาะคนไข้โรคมะเร็ง โรคนี้เป็นเรื่องที่ต้องนั่งคุยกันมากกว่าการรักษาด้วยซ้ำ เช่น มะเร็งเต้านม การผ่าตัดไม่ได้จบแค่การตัดออก เพราะคนไข้ยังต้องอยู่ในกระบวนการรักษาอีกนาน หมอคิดว่าถ้าไม่ให้ความรู้เขาอย่างถูกต้อง เขาอาจไปค้นหาข้อมูลเองแล้วเข้าใจแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้ดูแลรักษาตัวเองได้ไม่ดี"
การให้ความรู้ที่ถูกต้อง หาจุดที่เป็นปัญหาของเขามาอธิบายให้ชัดเจนคือสิ่งที่คนไข้ต้องการ หากคุณหมอปล่อยให้คนไข้คิดไปเองก็จะเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับคนไข้ ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อการรักษาด้วย...
"อย่างกรณีคนไข้มาตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีก้อนเล็กๆ ที่เต้านม แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร หรือเป็นเพียงเคสที่ต้องคอยระวังและติดตามอาการ สิ่งที่เราต้องอธิบายกับคนไข้ต่อก็คือ ให้เขารู้จักสังเกตตัวเอง ถ้าต่อไปพบว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ต้องมาพบหมอนะ ต้องปฏิบัติตัวแบบนี้นะ เพราะหากไม่อธิบาย คนไข้ก็จะกลับไปค้นหาข้อมูลเอง ซึ่งอาจตีความผิดหรือได้ข้อมูลที่เป็นการบอกต่อๆ กันมา แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลเสียกับตัวคนไข้"
ปัจจุบันการผ่าตัด (ศัลยกรรม) ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
ในสมัยก่อนการผ่าตัดจะเป็นการเปิดแผลกว้างเพื่อตัด เย็บ และผูก แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมและเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกมากมาย อย่างการผ่าตัดผ่านกล้องที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือแทบจะไม่มีแผลเลย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวโรค ขนาด และตำแหน่งที่เป็น รวมถึงต้องเป็นแพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้เพิ่มเติมจึงสามารถทำได้
การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กทำให้คนไข้ก็สบายขึ้น เจ็บตัวน้อยลง แผลเล็กลง ไม่กระทบกับอวัยวะอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา การเสียเลือดก็น้อย จึงทำให้ฟื้นตัวไว กลับบ้านได้เร็วขึ้น แต่การจะเลือกผ่าตัดด้วยการเปิดแผลหรือการผ่าตัดส่องกล้องนั้น ต้องอยู่ที่ความเหมาะสม ซึ่งคุณหมออธิบายว่า...
"ก่อนการผ่าตัด หมอจะคุยกับคนไข้ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า แม้ว่าเราจะเลือกวิธีการผ่าด้วยการส่องกล้อง แต่หากขณะทำการผ่าตัดแล้วเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น เช่น ไม่สามารถเห็นรอยโรคได้อย่างชัดเจน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ ที่อาจส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อคนไข้ หรือทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร หมอก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมาผ่าตัดแบบเปิดแผล สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกับคนไข้ให้ชัดเจนก่อนเริ่มผ่าตัดเสมอ"