-
วัน | เวลา |
จันทร์ | 08:00 - 17:00 |
อังคาร | 08:00 - 17:00 |
พุธ | 08:00 - 17:00 |
พฤหัสบดี | 08:00 - 17:00 |
ศุกร์ | 08:00 - 17:00 |
ศัลยแพทย์
รพ.เปาโล สมุทรปราการ
"ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคและการบาดเจ็บในช่องท้องก่อนการผ่าตัดทำได้รวดเร็วและเจาะจงแม่นยำมากขึ้น เมื่อคนไข้ได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือทำ MRI แล้ว หมอจะรู้ได้เลยว่าผู้ป่วยบาดเจ็บส่วนใดในช่องท้อง ต้องรักษาอย่างไร จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ทำให้หมอวางแผนได้ละเอียดขึ้น ความสำเร็จในการผ่าตัดจึงสูงขึ้นมาก"
นพ.สุรินทร์ ดิกิจ เกิดความพลิกผันในช่วงชั้น ม.6 เมื่อคุณแม่ของคุณหมอป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้คุณหมอได้เข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำจนเกิดความประทับใจที่ได้เห็นแพทย์ที่ทำการรักษาดูแลคุณแม่อย่างดี ความคิดที่อยากเป็น "หมอ" จึงเริ่มเกิดขึ้น และในที่สุดคุณหมอก็เข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำเร็จ
เมื่อครั้งได้เป็นแพทย์เต็มตัวแล้ว และชอบการปฏิบัติด้วยการลงมือทำ การผ่าตัดหรือการทำศัลยกรรมจึงเป็นสิ่งที่ถนัดเป็นพิเศษ คุณหมอจึงเลือกศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์
ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยทั้งอุบัติเหตุและโรคในช่องท้อง
เมื่อคนไข้ได้รับอุบัติเหตุและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ในฐานะที่คุณหมอสุรินทร์เป็นศัลยแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดให้กับคนไข้ เพื่อให้คนไข้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนั้นไปได้ แต่หากมีแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในอวัยวะนั้นๆ พร้อมรักษาอยู่ ก็จะมอบหน้าที่ให้กับศัลยแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ดูแลหรือทำงานร่วมกัน...
"ในกรณีฉุกเฉิน ด้วยจรรยาแพทย์เราจะต้องรับคนไข้ไว้ก่อนและรีบรักษาโดยเร็วเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของหมอจะดูแลเรื่องการผ่าตัดในช่องท้องที่ไม่เกี่ยวกับกระดูก เช่น ผู้ป่วยโดนยิง โดนแทง หากมีการบาดเจ็บที่เส้นเลือดในช่องท้องก็ต้องซ่อมเส้นเลือดก่อน ถ้าเป็นการบาดเจ็บในทรวงอกหรือโดนแทงที่ปอดมาหมอก็จะใส่ท่อระบายให้ หรือต้องผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดอย่างเร่งด่วน ก่อนส่งให้คุณหมอศัลยกรรมทรวงอกรักษาต่อไป"
คุณหมอยังเล่าถึงประสบการณ์ในการผ่าตัดไว้อีกว่า...
"อย่างเคสผู้ป่วยถูกยิงทะลุหัวใจเมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินคนไข้ยังมีสัญาณชีพอยู่ หมอก็ได้ทำการผ่าตัด ซ่อมแซมหัวใจให้ หรือที่เคยผ่าตัดคนไข้ถูกมีดปอกผลไม้ปักคาอยู่ที่หน้าอก คนไข้ถูกแทงที่ท้อง โดนลำไส้ และโดนเฉียดๆ เส้นเลือดแดงใหญ่ โดนขั้วไตจนทะลุกล้ามเนื้อหลัง หมอก็ทำการผ่าตัดจนคนไข้ปลอดภัยและหายดี เพราะถ้าเป็นเรื่องภายในช่องท้องก็จะเป็นความเชี่ยวชาญที่หมอโดยตรง ในกรณีเป็นอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น มีดบาด หรือเรื่องใหญ่ๆ อย่างที่เล่ามาก็อยู่ในความรับผิดชอบของหมอก่อนเช่นกัน"
โรคต่างๆ ในช่องท้องที่ทำการผ่าตัดบ่อยๆ
ในส่วนที่เกี่ยวกับโรค การผ่าตัดส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับช่องท้อง เช่น โรคตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้ ฝีในท้อง มะเร็งในช่องท้อง ไส้ติ่ง ริดสีดวง เพราะการเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปจะต้องผ่าตัดอวัยวะภายในช่องท้องได้ทั้งหมด จึงถือเป็นงานค่อนข้างกว้างที่เปรียบเสมือนกัปตันที่ต้องควบคุมดูแลให้ครอบคลุม ยกเว้นในกรณีที่โรคซับซ้อนหรือรุนแรงและจำเป็นต้องใช้ศัลยแพทย์เฉพาะทาง ก็จะทำการส่งคนไข้ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ คุณหมอเล่าถึงความรู้สึกในการดูแลคนไข้ว่า...
"ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนัก ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุหรือโรคที่รุนแรง ความรู้สึกระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยนี่สำคัญ คนเป็นหมอต้องมีความเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ใช่เกิดความสงสารจนทำให้ความรู้สึกเปลี่ยน เราจะต้องนิ่งและควบคุมตัวเอง เพื่อดึงเอาวิชาความรู้มารักษาคนไข้ให้หายดีให้ได้ ถ้าเราไม่นิ่งพอเราก็จะโอนเอียง มีความกลัว อคติต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการรักษา เราต้องมองให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่แพทย์ ต้องทำแบบมืออาชีพ"
หัวใจสำคัญของการเป็นศัลยแพทย์
แพทย์ศัลยกรรมทั่วไปจะผ่าตัดโรคต่างๆ ที่ค่อนข้างกว้าง คนไข้จึงค่อนข้างเยอะ ศัลยแพทย์จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี สิ่งใดที่เร่งด่วนและจำเป็นต้องรีบจัดการ ลำดับขั้นตอนในการรักษาต้องแม่น แม้ในการผ่าตัดบางครั้งจะต้องใช้เวลานานก็ไม่ใช่ปัญหาของศัลยแพทย์ เพราะศัลยแพทย์ทุกคนจะคำนึงถึงความปลอดภ้ยของคนไข้เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม การผ่าตัดหลายๆ อย่างต้องใช้ความละเอียด เช่น การผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดี แพทย์จึงต้องฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ให้มาก
ในการดูแลคนไข้ คุณหมอจะประเมินคนไข้ทั้งก่อนผ่าตัดและการแก้ปัญหาขณะผ่าตัด เพราะบางครั้งแม้ว่าจะมีการวางแผนมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อลงมือปฏิบัติอาจพบสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย แพทย์จะต้องมีแผนสองหรือแผนอื่นๆ รองรับ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ทั้งในด้านการรักษาและการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ...
"ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาพบหมอ เขาก็ต้องการแก้ความสงสัย ต้องการแก้ปัญหาของเขา ซึ่งหมอมองว่าการรักษาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของการแก้ปัญหา แต่การอธิบายให้คนไข้เข้าใจ ให้เขารู้ถึงแก่นแท้ของโรคที่เขาเป็น รู้ถึงแนวทางการรักษา และให้คนไข้มีส่วนร่วมในการรักษาและดูแลตัวเอง รวมถึงการได้พูดคุยกับคนไข้เหมือนญาติพี่น้อง ให้เวลาในการอธิบายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน