-
เบาหวานขึ้นตา ป้องกันรักษาก่อนตาบอดด้วยการตรวจสุขภาพตา
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
13-พ.ย.-2566

เบาหวานขึ้นตา ป้องกันรักษาก่อนตาบอดด้วยการตรวจสุขภาพตา

โรคเบาหวาน เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบมากในคนไทย คือพบมากถึง 4.8 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 200 รายต่อวัน ทั้งจำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2583 ตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานอาจพุ่งถึง 5.3 ล้านคน

 


เบาหวานเป็นโรคที่มีความรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นบ่อเกิดของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดในทุกอวัยวะ และนำไปสู่หลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคเกี่ยวกับปลายประสาท ปลายเท้าชา ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานทุกคนต้องมีการติดตามอาการและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะหากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ไม่ดี โรคก็จะลุกลามและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ดวงตา ซึ่งเรียกกันว่า “โรคเบาหวานขึ้นตา” นั่นเอง

 

มารู้จักกับสาเหตุของ “เบาหวานขึ้นตา”

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากการควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีพอ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจึงส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดการอุดตัน ทำให้เลือดหรือสารน้ำอื่นๆ รั่วไหลเข้าสู่จอตาและทำให้เกิดความเสียหายกับจอตา (Retina) จนกระทั่งทำให้มีเลือดออกบริเวณจอรับภาพในเลนส์ตา เลนส์ตาจึงบวมขึ้น อาการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกได้คือ ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรือตาบอดได้นั่นเอง

 

ปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดเบาหวานขึ้นตา

นอกจากการไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีแล้ว การมีภาวะความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ง่ายขึ้น

 


อาการของ...เบาหวานขึ้นตา

หากเป็นเบาหวานขึ้นตาในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว จึงทำให้อาการเบาหวานขึ้นตาลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมักปรากฏอาการดังนี้

  • มีการมองเห็นที่แย่ลง หรือตาพร่ามัว
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • มองเห็นเหมือนหยากไย่ หรือมีหมอกลอยไปลอยมา
  • มีจุดดำ หรือมีภาพมืดๆ รบกวนและบดบังการมองเห็น
  • สูญเสียการมองเห็น หรือตาบอด

 

ระยะและความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา

ความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะเริ่มแรก หรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา ทำให้เกิดจอตาบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หากเกิดหลอดเลือดรั่วบริเวณจุดภาพชัด จะทำให้เกิดจุดภาพชัดบวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมองเห็น หากมีการอุดตันของหลอดเลือดอาจทำให้เกิดจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือด ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
  2. ระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มีการขาดเลือดที่จอตามากจนเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอกตามมาได้ หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา ก็จะทำให้ความดันตาสูงขึ้นจนเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตา และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต้อหินอีกด้วย





เบาหวานขึ้นตา รักษาได้ตามอาการที่พบ

ในระยะที่โรคยังไม่รุนแรงมากนัก การดูแลรักษาอาจเป็นการตรวจติดตามโดยจักษุแพทย์เป็นระยะๆ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่วมกับการรักษาภาวะหรือโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิต หรือไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แต่หากเริ่มเข้าสู่ในระยะที่รุนแรง จะต้องดูถึงสาเหตุและอาการร่วมด้วย โดยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการเลเซอร์ที่จอประสาทตา เพื่อให้เส้นเลือดที่ผิดปกติเหล่านั้นฝ่อไป เป็นการยับยั้งไม่ให้ตัวโรคดำเนินไปสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น หรือหากตรวจพบว่ามีจุดรับภาพชัดหรือจอประสาทตาบวมน้ำ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าไปในตา หรือเมื่อตรวจพบว่ามีพังผืด จอประสาทตาลอก หรือจอประสาทตาฉีกขาด อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

 

ลดพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงเบาหวานขึ้นตา

  • ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม โดยการควบคุมอาหาร ลดการทานแป้งและน้ำตาล ทานผักให้มากขึ้น
  • ควบคุมความดันโลหิตให้ดี ลดการทานเค็มและมัน
  • ควบคุมคอเลสเตอรอลให้ดี โดยการลดของมัน ของทอด
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอล
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • ตรวจตาเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละครั้ง

 


ตรวจวินิจฉัย คัดกรองเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็น เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง กรณีที่พบเบาหวานขึ้นตาแพทย์อาจพิจารณาให้ทำการรักษาหรือนัดตรวจตาถี่ขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค

 

เพราะโรคเบาหวานขึ้นตา จะไม่แสดงอาการผิดปกติที่เด่นชัดในระยะแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงชะล่าใจ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานขึ้นตา อาการตามัวก็รุนแรงแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพตา หรือหากไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน หรือไม่เคยตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หากเริ่มมีอาการที่น่าสงสัยทั้งโรคเบาหวาน และสุขภาพตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

“เพราะดวงตา คืออวัยวะสำคัญในการดำเนินชีวิต”

 

 

บทความโดย
แพทย์หญิง
พรทิพา เจริญจิตรวัฒนา

แพทย์ประจำสาขาจักษุทั่วไป 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนกหู ตา คอ จมูก
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2540-2541
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn