-
กินผักผลไม้...ช่วยต้านมะเร็งได้จริงหรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
21-เม.ย.-2566

กินผักผลไม้...ช่วยต้านมะเร็งได้จริงหรือไม่?

ผักผลไม้ที่มองด้วยตาก็ดูดีแถมยังมีสีสันที่น่ากิน แต่ใครจะรู้ว่าอาจมีสิ่งที่ตามองไม่เห็น เช่นสารเคมีที่ตกค้างหรือสะสมอยู่ อย่างยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ซึ่งสารเหล่านี้สามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานและไม่สลายตัวง่ายๆ จึงก่อให้เกิดสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายกับร่างกายเมื่อเรากินเข้าไป

 

สารเคมีตกค้างในผักผลไม้ อันตรายถึงชีวิตได้!

การได้รับสารเคมีตกค้างจากผักผลไม้ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง หรือหากรุนแรงมากก็อาจจะถึงขั้นทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ส่วนการได้รับสารเคมีครั้งละน้อยๆ แต่เป็นเวลานานต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งเต้านมในผู้หญิง

 


ทำอย่างไร? ให้ผักผลไม้ปลอดภัยจากสารตกค้าง

ทุกครั้งเมื่อซื้อผักผลไม้สดมา ก่อนนำมาปรุงอาหารหรือรับประทานควรล้างให้สะอาด ด้วยวิธีเหล่านี้

  1. นำผักผลไม้แช่ในน้ำผสมเกลือ หรือน้ำผสมส้มสายชู ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำผักมาล้างน้ำสะอาดอีก 2-3 รอบ เพื่อล้างสารตกค้างออกให้หมด
  2. ลอกเปลือกผลไม้ด้านนอกออกให้หมด แล้วล้างผ่านน้ำสะอาดนาน 2 นาที

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักผลไม้นอกฤดูกาล เนื่องจากมักมีการใช้สารเคมีเพื่อการคงสภาพ

 

กินผักผลไม้อย่างพอดี ให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน

  1. ควรกินผักให้เพียงพอ โดยในเด็กควรกินผักให้ได้วันละ 12 ช้อนหรือ 4 ทัพพี และในผู้ใหญ่ควรกินผักให้ได้วันละ 18 ช้อน หรือ 6 ทัพพี
  2. แนะนำให้กินผลไม้วันละ 400 กรัม แต่ต้องระวังการกินผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง
  3. กินผักและผลไม้ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามินต่างชนิดกัน

 


เพราะผักผลไม้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ประโยชน์เยอะขนาดนี้ หันมากินผักผลไม้กันให้มากขึ้นจะดีกว่า

นอกจากนี้การตรวจสุขภาพก็มีส่วนช่วยต้านทานมะเร็งได้อีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากเป็นการตรวจเช็คสภาพร่างกาย หรือตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายโดยที่อาจยังไม่แสดงอาการ เพราะมะเร็งส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ จะมีอาการแสดงเมื่ออยู่ในระยะลุกลากแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพก็เป็นเหมือนการตรวจหาความบ่งพร่อง เพื่อเตรียมรับมือ และหาวิธีรักษาได้อย่างทันท่วงที

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn