-
เทคนิคพัฒนา IQ & EQ เพื่อพัฒนาการลูกน้อย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
05-ม.ค.-2566
เทคนิคพัฒนา IQ & EQ เพื่อพัฒนาการลูกน้อย
IQ และ EQ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาการของลูกน้อยที่คุณพ่อและคุณแม่ควรให้ความใส่ใจ โดย IQ และ EQ เป็นความฉลาดในด้านต่างๆ  ซึ่งหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...ย่อมทำให้พัฒนาการของลูกน้อยเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ

IQ คือ Intelligence Quotient หรือ ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา
คำนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นโดย LM Terman เมื่อปี 1916 โดยหมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา โดยเฉพาะในเรื่องการคิด ความจำ การใช้เหตุผล การคำนวณ และการเชื่อมโยง ซึ่งเป็นศักยภาพหรือความสามารถทางสมองที่แต่ละบุคคลมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยถูกกำหนดจากพันธุกรรม จึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก

EQ คือ Emotional Quotient หรือ ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รวมถึงความสามารถทางอารมณ์ในการดำเนินชิวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข การรู้จักความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองก็เพื่อการพัฒนาและการใช้ศักยภาพของตนเองในการดำเนินชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

EQ สอนกันได้หรือไม่?
EQ เป็นเรื่องที่สอนให้เกิดขึ้นได้ และสามารถฝึกฝนให้ลูกของเรามี EQ ดีขึ้นหรือสูงขึ้นได้ แต่ IQ เป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด โดยได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นเท่าที่ศักยภาพของเด็กมีอยู่


การเสริมสร้าง IQ & EQ ทำได้อย่างไร?
มนุษย์เรามีศักยภาพตั้งแต่แรกเกิด และสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ช่วงเวลาที่สมองของมนุษย์เราจะพัฒนาได้ดีที่สุดก็คือในระยะ 3 ปีแรก หลังจากนั้นสมองก็ยังคงพัฒนาไปได้เรื่อยๆ จนถึงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม... มนุษย์สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งการเสริมสร้าง IQ และ EQ นั้น มีวิธีการที่หลากหลาย เช่น

การให้อาหารกาย อาหารใจ และอาหารสมอง ซึ่งก็คือ นมแม่ จากงานวิจัยพบว่า เด็กที่ได้ดื่มนมแม่เป็นประจำจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ได้รับนมผสม เมื่อลูกร้องหิว แล้วคุณพ่อคุณแม่พูดว่า “รออีกนิดนะจ๊ะ” ลูกจะรู้จักการรอคอยเวลาให้นมหรืออาหาร อารมณ์ของพ่อแม่สามารถสื่อถึงลูกได้ หากพ่อแม่อารมณ์ดี ลูกจะรู้สึกผ่อนคลาย การให้เด็กฝึกทานอาหารเองเมื่อถึงวัยก็เป็นการสร้างเสริมความภูมิใจที่สามารถทำอะไรๆ เองได้ เด็กจะมีความมั่นใจเกิดขึ้น
การสัมผัสและโอบกอด ความรัก ความอบอุ่นเวลาที่ได้รับการกอด สัมผัสลูก ทำให้ฮอร์โมนความสุขหลั่งออกมาจากสมองและกระตุ้นเส้นใยสมองให้เชื่อมโยงกัน มีผลต่อความฉลาด การกอดทำให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า ทำให้เด็กมีความไว้วางใจ มองโลกในแง่ดี ภูมิใจในตนเอง
เล่านิทาน ร้องเพลงให้ฟัง ทำให้เส้นประสาทในสมองของเด็กเพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงกัน ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไว การฟังคนพูดช่วยพัฒนาสมองด้านภาษานำไปสู่การพัฒนาการด้านสติปัญญาและสังคม รับรู้และเข้าใจคนอื่นผ่านการสื่อสาร นิทาน ดนตรี การร้องเพลงยังช่วยส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งนิทานยังปลูกฝังคุณธรรมได้อีกด้วย
การเล่น การออกกำลังกาย ทำให้สมองและร่างกายทุกส่วนตื่นตัว พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้อารมณ์ดี กระปรี้กระเปร่า อีกทั้งการเล่นร่วมกับเด็กอื่นๆ เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม การอยู่ร่วมกัน การรอคิว เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
 นอนหัวค่ำ ตื่นแต่เช้า ควรปลูกฝังให้เด็กมีวินัยในชีวิตประจำวัน เช่น กิน นอน ขับถ่ายเป็นเวลา โดยเฉพาะการนอนให้เพียงพอจะมีผลต่อสมาธิ และการเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาด้านอารมณ์
ระวังอุบัติเหตุและสารพิษ ระวังการกระทบกระเทือนแรงๆ บริเวณสมอง การได้รับสารพิษ เช่น ปรอท ตะกั่ว เพราะจะทำลายเซลล์สมองทำให้การเรียนรู้ลดลงไปด้วย

บทความโดย 
แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์
กุมารเวชกรรมสาขาพัฒนาการและพฤติกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn