ผ่าตัดสงวนเต้านม ทางเลือกใหม่เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมคือโรคที่ครองอันดับ 1 ในกลุ่มมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก หลายคนมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมว่าถ้าเป็นมะเร็งเต้านมมักหมายถึงการสูญเสียเต้านมทั้งหมด แต่ในปัจจุบันด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบัน "การผ่าตัดสงวนเต้านม" กลายมาเป็นตัวเลือกใหม่ที่ช่วยรักษาชีวิต พร้อมทั้งรักษารูปทรงเต้านมของผู้ป่วยให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด
.jpg)
ผ่าตัดสงวนเต้านมคืออะไร?
การผ่าตัดสงวนเต้านม (Breast-Conserving Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดที่มุ่งเน้นการกำจัดเฉพาะก้อนมะเร็งหรือเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบออก โดยสงวนเนื้อเยื่อเต้านมส่วนที่ยังแข็งแรงเอาไว้มากที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด กระบวนการนี้ทำให้ผู้ป่วยยังคงรักษารูปร่างและลักษณะของเต้านมไว้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แตกต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมที่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งข้าง
ทำไมถึงต้อง “การผ่าตัดสงวนเต้านม”
- รักษารูปทรงเต้านม : การสงวนเนื้อเยื่อเต้านมหรือคงรักษารูปร่างและลักษณะของเต้านมไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยยังคงรักษาความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง
- ฟื้นตัวเร็วขึ้น : การผ่าตัดชนิดนี้มีผลกระทบน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ทำให้ฟื้นตัวเร็วและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไว
- ลดโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า : ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้านม มักมีอัตราภาวะซึมเศร้าน้อยกว่าผู้ที่ต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เนื่องจากไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออก
- เพิ่มทางเลือกในการรักษาเสริม : หลังผ่าตัดสงวนเต้านม ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาเสริม เช่น การฉายรังสี เพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ
.jpg)
ผ่าตัดสงวนเต้านม...ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด
- การประเมินเบื้องต้น : แพทย์จะประเมินขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่ง และสภาพเนื้อเยื่อโดยรอบ โดยการอัลตราซาวด์ แมมโมแกรม หรือ MRI เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมหรือไม่
- กระบวนการผ่าตัด : เมื่อแพทย์พิจารณาว่าสามารถทำการผ่าตัดสงวนเต้านมได้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัด โดยแพทย์จะกำจัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งและส่วนที่ใกล้เคียง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ โดยใช้เทคนิคที่ช่วยคงรูปร่างของเต้านมไว้ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด
- การติดตามผล : หลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเนื้อเยื่อเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ และจะต้องเข้ารับการฉายรังสีตามคำแนะนำของแพทย์
ใครบ้างที่เหมาะกับการผ่าตัดสงวนเต้านม?
- ผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก (ปกติไม่เกิน 5 ซม.)
- ไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นของร่างกาย
- ผู้ที่สามารถเข้ารับการฉายรังสีหลังการผ่าตัดได้
- ผู้ที่ต้องการรักษาโครงสร้างเต้านมไว้ด้วยเหตุผลทางจิตใจหรือสังคม
หากคุณสงสัยว่าตัวเองเหมาะสมกับการผ่าตัดนี้หรือไม่ การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้คุณได้รับคำตอบที่ดีที่สุด
.jpg)
คำแนะนำสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจเป็นมะเร็งเต้านม
- หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเอง : ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพื่อสังเกตความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อในเต้านม ผิวหนังย่น หรือหัวนมผิดรูป
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม : ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ : หากพบความผิดปกติในเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
การผ่าตัดสงวนเต้านมเป็นทางเลือกที่ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย แต่ยังช่วยรักษาความมั่นใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว อย่าปล่อยให้มะเร็งเต้านมขโมยความมั่นใจและความสุขของคุณไป การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และการปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เรารับมือกับมะเร็งร้าย และ เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
บทความโดย
นายแพทย์สุรินทร์ ดิกิจ
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn
(1).png)