-
โรคถุงลมโป่งพอง อันตรายรอบตัวที่ทุกคนควรระวัง!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
03-ม.ค.-2567

โรคถุงลมโป่งพอง อันตรายรอบตัวที่ทุกคนควรระวัง!

ในปัจจุบัน การที่เราต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะการอยู่บนท้องถนนขณะเดินทาง หรือแม้แต่การได้รับฝุ่นควันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ทำให้เราต้องสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อเราได้รับมลพิษทุกๆ วันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โรคร้ายที่มักถามหาและพบได้บ่อยก็คือ โรคถุงลมโป่งพอง นั่นเอง ว่าแต่โรคนี้จะส่งผลอย่างไรกับร่างกายของเราบ้างนะ!

 

โรคถุงลมโป่งพอง คืออะไร?

โรคถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ ภาวะที่ถุงลมภายในปอดเกิดการขยายตัวมากกว่าปกติ ส่งผลให้พื้นที่ผิวในปอดลดน้อยลงจนทำให้หายใจลำบาก จึงทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อวัยวะเหล่านั้นจึงทำงานได้แย่ลง

 


ควันบุหรี่ ต้นเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง

สาเหตุของการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง คือการได้รับสารกระตุ้นจากการหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น ฝุ่น ควันจากการเผาขยะ จากโรงงาน จากการทำอาหาร ไอเสียจากรถยนต์ และสารเคมีปนเปื้อนในอากาศ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองมากที่สุด คือ “ควันบุหรี่” ทั้งที่ได้รับจากการสูบเองและควันบุหรี่มือสอง

          หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมบางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษหรือสูบบุหรี่จัด แต่กลับไม่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง แต่บางคนที่ดูแลตัวเองดีกลับเป็น นั่นเป็นเพราะปัจจัยในการเกิดโรคถุงลมโป่งพองยังเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และความผิดปกติเกี่ยวกับปอดที่มีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กนั่นเอง

 


แม้อาการไม่รุนแรง แต่ก็รบกวนชีวิตประจำวัน

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอและมีเสมหะมากขึ้น มักเป็นตอนเช้าหลังตื่นนอน ระยะนี้อาการเหนื่อยยังไม่มี หรือถ้ามีก็มีไม่มาก ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย โดยจะเป็นในลักษณะเหนื่อยหอบ หายใจลำบากตอนใช้แรงเยอะๆ หรือตอนออกกำลังกาย และเมื่อมีอาการมากขึ้น อาการเหนื่อยก็จะส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันหรือแม้แต่ขณะอยู่เฉยๆ ก็มีความรู้สึกเหนื่อยได้เช่นกัน

          นอกจากนี้อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจถี่และสั้น หายใจแล้วมีเสียงหวีด รู้สึกแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก ในบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร ส่งผลให้น้ำหนักลดและผอมลงมาก และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายได้

 


แค่หลีกเลี่ยง...ก็ลดเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพองได้

  • หลีกเลี่ยงการสูดดมมลพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากรถยนต์ จากโรงงาน ควันจากการทำอาหาร และควันทุกชนิดที่หลีกเลี่ยงได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควัน หรือสุ่มเสี่ยงต่อการมีมลพิษที่เรามองไม่เห็น
  • สวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเมื่อต้องเจอกับฝุ่นควันหรือมลพิษต่างๆ

 

และเพราะอาการของโรคถุงลมโป่งพอง คือ หอบเหนื่อยและหายใจลำบาก ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ออกกำลังกายไม่ได้ ผู้ป่วยจึงมีสุขภาพที่เสื่อมลงรวดเร็วทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เมื่อพบว่าตนเองมีอาการที่คล้ายโรคถุงลมโป่งพอง หรือสงสัยว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากพบเจอโรคเร็วการรักษาก็จะได้ผลดีกว่าปล่อยให้โรคลุกลามไปมากแล้ว

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn