กินเจอย่างไร...ให้ไม่เป็นภัยสุขภาพ
การกินเจ เป็นหนึ่งทางเลือกในการบริโภคอาหารเพื่อดูแลสุขภาพด้วยการงดรับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด และหันมารับประทานพืชผักแทน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนจากการรับสารอาหารที่ย่อยยาก แต่การรับประทานอาหารรูปแบบนี้จำต้องมีการวางแผนในการกินที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เสี่ยงขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาการประเภทแป้งมากเกินไปจนเกิดภาวะอ้วนได้
สุขภาพดีได้...แค่บริโภคอย่างพอดี
ในช่วงเทศกาลกินเจควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน โดยสามารถบริโภคตามได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งและไขมันในปริมาณที่พอดี เพราะอาหารเจส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมันค่อนข้างสูง
- ควรเลือกรับประทานข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีท แทนข้าวขาวหรือขนมปังปกติ
- ควรหันมาบริโภคอาหารประเภทลวก นึ่ง ยำ ตุ๋น หรือต้ม แทนการรับประทานอาหารประเภทผัด หรือทอด
- เลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีหลากหลายสีสัน และก่อนรับประทานหรือนำไปปรุงอาหารควรล้างทำความสะอาด เพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงแทนเนื้อสัตว์ เช่น นมถั่วเหลือง ถั่ว งา เต้าหู้ หรือโปรตีนเกษตร
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันมาก หากจำเป็นควรใช้น้ำมันจากกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด หรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะในระบบย่อยอาหารได้
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตได้
- เลือกรับประทานผลไม้ที่มีความหวานน้อย เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ ฝรั่ง แก้วมังกร หรือผลไม้ที่มีความฉ่ำน้ำ
นอกจากนี้ ผู้ที่กินเจควรระมัดระวังในการรับประทานเนื้อสัตว์เทียม เนื่องจากอาหารชนิดนี้ทำมาจากแป้ง หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายได้รับแป้งมากจนเกินไป จนเกิดภาวะอ้วนได้
ผู้สูงอายุกินได้...แต่ให้ระมัดระวัง
ในช่วงเทศกาลกินเจ การได้รับการบริโภคอาหารเจอย่างพอดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย หากรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมันมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น
- ไขมันในเลือดสูง เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่ มักเป็นประเภทผัดและทอด ซึ่งมีไขมันสูงเกินความจำเป็นต่อร่างกาย และยังทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมาเช่นกัน
- ความดันโลหิตสูง เนื่องจากอาหารเจมักรสชาติเค็ม และหวานจัด ซึ่งอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้ รวมถึงโรคที่อาจตามมาอย่าง โรคไต และโรคเบาหวาน
- ท้องผูก ท้องอืด อาหารเจส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของผักหรือผลไม้ที่มีกากใยสูง เมื่อร่างกายได้รับกากใยมากเกินไป อาจส่งผลให้ท้องผูกหรือท้องอืดได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรรับประทานแต่พอดี
จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้การกินเจจะดูเหมือนส่งผลเสียกับร่างกาย แต่ไม่ใช่ว่าจะกินเจไม่ได้เลย เพียงแต่ควรเลือกรับประทานอาหารเจที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส เพียงเท่านี้ก็จะได้ทั้งบุญได้ทั้งสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
บทความโดย
นายแพทย์ปฐมภูมิ คูอนุพงศ์
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn