-
เอกซเรย์ คืออะไร? ทำไมต้องตรวจ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
16-เม.ย.-2567

เอกซเรย์ คืออะไร? ทำไมต้องตรวจ

ในปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยร่างกายคนเรา สามารถทำได้ด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีข้อดีและความแตกต่างกันไปในแต่ละวิธี ในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยที่ได้รับความนิยมและมีความปลอดภัยรู้อย่างการ “เอกซเรย์”


ทำความรู้จักการ “เอกซเรย์”

เอกซเรย์ (X-ray) เป็นการตรวจร่างกายโดยการฉายรังสีเอกซ์ไปยังอวัยวะที่ต้องการตรวจ ผ่านร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจไปยังแผ่นฟิล์มที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งคุณสมบัติของรังสีเอกซ์ คือ สามารถทะลุผ่านเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกายได้ โดยภาพที่ได้จากการเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นโครงสร้างต่างๆ เช่น กระดูก หรืออวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งแพทย์สามารถนำภาพที่ได้มาวินิจฉัยหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือสงสัย และวางแผนการรักษาต่อไป




เอกซเรย์สามารถตรวจส่วนใดได้บ้าง?

การเอกซเรย์สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดังต่อไปนี้

  1. กระดูก : การเอกซเรย์สามารถแสดงภาพของกระดูกในร่างกายได้ เช่น กระดูกแขน ขา สะโพก เป็นต้น ซึ่งผลจากการเอกซเรย์สามารถช่วยในการวินิจฉัยอาการบาดเจ็บหรือโรคที่เกี่ยวกับกระดูก เช่น การหัก แตก ร้าวของกระดูก รวมถึงการคด งอ หรือผิดรูปตามธรรมชาติของกระดูก
  2. ปอด : การเอกซเรย์ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปอด เพื่อค้นหาการติดเชื้อ เนื้องอก หรือพยาธิสภาพที่เกี่ยวข้องกับปอด เช่น วัณโรค อาการปอดอักเสบ รวมไปจนถึงก้อนที่ปอด
  3. อวัยวะในช่องท้อง : การเอกซเรย์ยังสามารถแสดงภาพภายในช่องท้องได้ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ อวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบสืบพันธุ์ ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติทางการแพทย์
  4. ฟัน : การเอกซเรย์ที่ใช้ในงานทันตกรรมเพื่อดูลักษณะฟัน รากฟัน รวมไปถึงกระดูกขากรรไกรและกระดูกใบหน้า และช่วยวินิจฉัยด้านทันตกรรม เช่น การตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฟัน ลักษณะรากฟัน ตำแหน่งฟันที่ผิดปกติ ตรวจหาก้อนเนื้องอก หรือตรวจโรคประจำตัวในช่องปาก
  5. หัวใจและหลอดเลือด : การเอกซเรย์สามารถใช้ในการทำภาพเงาของหัวใจและหลอดเลือดแดง เพื่อวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น ขนาดหรือรูปร่างหัวใจ หรือความผิดปกติของหลอดเลือดแดง

 

ข้อดีของการเอกซเรย์

  • สามารถวินิจฉัยได้เร็ว : การเอกซเรย์สามารถแสดงผลในการตรวจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคได้ทันที
  • สามารถตรวจวินิจฉัยได้หลายส่วนในร่างกาย : การเอกซเรย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้หลากหลายส่วนในร่างกายเช่น หัวใจ ปอด ช่องท้อง ไปจนถึงกระดูก
  • รวดเร็วและสะดวก : การเอกซเรย์ใช้ระยะเวลาในการตรวจเพียงไม่กี่นาที และไม่ต้องใช้เวลานานในการรอผลการตรวจ
  • ไม่เจ็บปวด : ในระหว่างการตรวจเอกซเรย์ ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ
  • มีความปลอดภัย : แม้การเอกซเรย์จะเป็นการใช้การฉายรังสีเอกซ์ แต่การตรวจด้วยวิธีนี้มีปริมาณรังสีที่น้อยมาก ทำให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้เข้ารับการตรวจ (ยกเว้นในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์)
  • มีความแม่นยำ : ภาพที่ได้จากการเอกซเรย์มีความละเอียดสูง ทำให้แพทย์สามารถจำแนกและวินิจฉัยโรคหรืออาการบาดเจ็บได้อย่างแม่นยำ




การเตรียมตัวก่อนการเอกซเรย์

โดยทั่วไปการตรวจเอกซเรย์ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ก่อนเข้ารับการตรวจ สามารถทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ตามปกติ ยกเว้นในบางรายที่ต้องได้รับสารไอโอดีนหรือแบเรียม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อช่วยให้ผลภาพเอกซเรย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

              การแต่งกายควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย หลีกเลี่ยงเครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีโลหะ หากเคยได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อน หรือสงสัยว่าตนเองอาจตั้งครรภ์อยู่ ก็ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง

 

              โดยสรุปแล้ว การตรวจเอกซเรย์เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือสงสัย ซึ่งเป็นการมองเห็นอวัยวะภายในร่างกายได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ทั้งยังเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลข้างเคียงน้อย และสามารถตรวจได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกาย

              โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีพร้อมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นหากจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ หรือมีความต้องการที่จะเอกซเรย์ ทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ ยินดีที่จะบริการเพื่อให้ผู้มาเข้ารับบริการได้รับประโยชน์มากที่สุดและมีความปลอดภัยสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn