4 วิธีให้ลูกน้อยห่างจากหน้าจอ การส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยในวัย 1 – 3 ปีหรือวัยก่อนเข้าเรียนนั้นเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่ควรให้ความสนใจมากพอ ๆ กับช่วงวัยอื่น ๆ เนื่องจากช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเรียน ลูกน้อยเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เริ่มที่จะพูด จดจำ ใช้ความคิด และลงมือทำ นอกจากนี้ ช่วงวัย 3 ปีขึ้นไป จนกระทั่งถึง 6 ปี ถือเป็นช่วงทองของการพัฒนาความคิดเชิงบริหาร (Executive Function: EF) ซึ่งเป็นความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุม ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม อีกทั้งลูกน้อยของเรายังมีพลังในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายซึ่งบางครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งกลับมาจากทำงานหรือทำงานบ้านเพิ่งเสร็จรู้สึกเหนื่อยล้ากับการเลี้ยงดูที่ต้องคอยอยู่เป็นเพื่อน คอยตอบคำถามข้อสงสัย หรือการทำให้ลูกน้อยสามารถอยู่นิ่ง ๆ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อให้เสร็จ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหาตัวช่วยที่ทำให้ลูกน้อยสนใจและแบ่งเบาแรงของตน ซึ่งในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิต ทำให้การเลี้ยงลูกก็คงหนีไม่พ้นที่จะนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วย
ไม่ว่าจะเป็นไอแพดก็ดี หรือโทรศัพท์มือถือก็ดี สามารถให้สาระความบันเทิงได้ทั้งสิ้น เราสามารถให้ลูกน้อยใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อการเรียนรู้และความบันเทิงได้ แต่หากให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำหน้าที่ในการอยู่กับลูกน้อยหรือเลี้ยงลูกน้อยแทนคุณพ่อคุณแม่นั้นเห็นจะไม่ดีเหมาะสมสักเท่าไร เพราะการให้เด็กอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้นาน ๆ ในระยะยาว จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งกล้ามเนื้อ สมาธิ หรือทักษะทางสังคม เป็นต้น นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์อาจจะเป็นการได้ข้อมูลผิด ๆ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีนิสัยใจร้อน ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ เพราะระบบการจัดการที่รวดเร็วและต้องใช้การตัดสินใจในเวลาอันสั้น
วิธีการที่จะทำให้ลูกน้อยห่างจากหน้าจอ- 1. คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก โดยการไม่เล่นไอแพด มือถือ ไม่สนใจอุปกรณ์เหล่านี้จนเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อยทำตามได้
- 2. นำอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกให้ห่างตัว ปิดอุปกรณ์หรือปิดเสียง ไม่ให้เด็ก ๆ ได้ยินหรือเห็นเพราะจะทำให้รู้สึกอยากเล่น
- 3. หากิจกรรมหรือของเล่น อื่น ๆ ทำร่วมกับลูกน้อย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะ การทำงานศิลปะง่าย ๆ การอ่านหนังสือให้ฟัง การร้องเพลง เป็นต้น
- 4. จำกัดเวลาและขอบเขตการเล่น ควรให้ลูกน้อยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระยะเวลาและมีเนื้อหาที่สาระที่เหมะสมกับวัย เช่น การฟังเพลงหรือดูวิดีโอที่เสริมสร้างพัฒนาการ การเล่นเกมที่เสริมสร้างความสามารถด้านความคิด ความจำ และการเรียนรู้ของลูกน้อย ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรปิดการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นที่ต้องใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมาก หรือไม่เหมาะสมต่อวัย เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนความสนใจของลูกน้อยไม่สามารถทำได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง ซึ่งอาจจะนานเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน ๆ ในการสร้าง ความเคยชินและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ให้แก่ลูกน้อย นอกจากที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อยแล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังจะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากและมีความมั่นคงสม่ำเสมอในการฝึกหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก แต่เมื่อทำสำเร็จแล้วเชื่อว่าผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่าแน่นอน เพราะลูกน้อยจะสามารถมีสมาธิ เคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ลูกน้อยยังมีความอดทนในการรอคอย อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ใจร้อน ใช้อารมณ์น้อยลงอีกด้วย
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก
นางสาวภัทราภรณ์ สิงหศิริ
นักกิจกรรมบำบัด พัฒนาการเด็กปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิตLine ID : @paolorangsit