นิ่วในระบบปัสสาวะ หมายถึง ผลึกที่ตกตะกอนในน้ำปัสสาวะจากของเสียในร่างกายที่ถูกขับออกทางเลือดที่ผ่านกรองจากไต ตกมาเป็นน้ำปัสสาวะและละลายเป็นน้ำ แต่เมื่อการตกตะกอนผิดปกติ จะอุดที่ทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต กรวยไต ท่อปัสสาวะ
ลักษณะอาการ มีดังนี้
(1) อาการปวด ขึ้นกับตำแหน่งของนิ่ว เช่น อุดที่ท่อไต ปวดท้องร้าวไปหลัง หรือขาหนีบ ปวดเสียดรุนแรง, ถ้านิ่วเคลื่อนลงมาต่ำอุดท่อปัสสาวะจะมีอาการปวดปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก ปวดเบ่ง เป็นต้น
(2) การติดเชื้อ เชื้อโรคจะอยู่ที่นิ่วและมีการกระจายเชื้อเติบโตขึ้น บางรายรุนแรงมากเข้าสู่กระแสเลือด
(3) ปัสสาวะเป็นเลือด ลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ ถ้าเลือดออกมากอาจเป็นลิ่มปนออกมา มักเป็นร่วมกับการติดเชื้อ หรือเกิดจากนิ่วระคายเคืองเยื่อบุท่อไต
สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดเจน แต่ที่สามารถอธิบายได้ เช่น
- การดื่มน้ำน้อย - ทำให้ความเข้มข้นของสารตะกอนในน้ำปัสสาวะมากขึ้น จนเกิดการตกตะกอนจับตัวเป็นก้อนนิ่วได้
- สิ่งแวดล้อมด้านพันธุกรรม - คนไทยที่อาศัยที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เกิดนิ่วได้ง่ายกว่าคนภาคอื่น เพราะระบบเผาผลาญ การดูดซึมคัดกรองเกลือแร่ของคนไข้ทำให้มีการตกตะกอนได้ง่ายกว่า
รู้หรือไม่ !! นิ่วในระบบปัสสาวะเกิดได้กับหลายอวัยวะ เช่น ไต ท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสวาะ โดยส่วนใหญ่อาการจะสัมพันธ์กับตำแหน่งที่เกิดโรค ความสำคัญของการประเมินตำแหน่ง ขนาดและชนิด มีผลต่อการพิจารณาแนวทางการรักษา
การตรวจปัสสาวะ เจาะเลือดดูการทำงานของไต สำหรับการประเมินวิธีการรักษาต้องตรวจเอกซเรย์ฉีดสี หรืออัลตราซาวด์ที่ไต เพื่อดูตำแหน่ง ขนาด จำนวนและชนิดของนิ่ว
การรักษาทำได้หลายวิธี อาทิ ใช้เครื่องสลายนิ่ว ส่องกล้อง และผ่าตัด การสลายนิ่วด้วยเครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy: ESWL) เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่มีการนำคลื่นเสียงความถี่สูงกระแทกก้อนนิ่วให้แตกเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ และขับออกจากร่างกายโดยระบบทางเดินของปัสสาวะ ด้วยการดื่มน้ำมากๆ จะช่วยให้การขับถ่ายเศษนิ่วเล็กๆ ออกได้ง่ายขึ้น
การดูแลป้องกันสามารถทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มาก ทางทฤษฎีถ้าดื่มมากๆ จนทำให้มีน้ำปัสสาวะออกมาอย่างน้อยปริมาณ 2 ลิตร ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำ หรือการเกิดนิ่วก้อนใหม่ได้บางส่วน แต่ปัจจุบันต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับลักษณะการใช้ชีวิต
- ดื่มน้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำสัปปะรด ช่วยให้การเกิดนิ่วลดลง เพราะน้ำผลไม้เหล่านี้มีซิเตรท ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว การดื่มน้ำมะนาววันละ 1-2 แก้วต่อวัน ช่วยยับยั้งให้นิ่วโตช้า หรือเกิดซ้ำช้าขึ้น
- ดูแลด้านอาหาร พิจารณาจากชนิดของนิ่วเป็นหลัก อาทิ เป็นนิ่วกรดยูริก ลักษณะการดูแลตนเองจะคล้ายกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกาต์ ต้องระมัดระวังอาหารประเภทเครื่องในสัตว์
ตรวจสุขภาพประจำปี อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำ เช่น ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ที่ไต โดนเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่วในครอบครัว
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่ Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต