โรคหัวใจที่ไม่แสดงอาการ ป้องกันได้อย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
29-ก.ย.-2565
โรคหัวใจที่ไม่แสดงอาการ ป้องกันได้อย่างไร


"โรคหัวใจ คร่าชีวิตคนไทย 4 แสนคนต่อปี"



          โรคหัวใจนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกโดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยขาดเลือดมากกว่า 400,000 คนต่อปีและมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลจากโรคหัวใจถึงร้อยละ 4-12%

          สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ มีหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงตามวัยและมีโรคร่วม เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อ้วน ไม่ออกกำลังกาย และ พันธุกรรมในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
         
          "คำว่า พันธุกรรม ในที่นี้ คือ บิดามารดา หรือญาติพี่น้องสายตรงเพศชายเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจช่วงอายุที่น้อยกว่า 55 ปี หรือเพศหญิงเป็นโรคหัวใจที่ช่วงอายุน้อยกว่า 65 ปี ถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญของความเสี่ยงโรคหัวใจที่ต้องคำนึง"




7 เคล็ดลับ ป้องกันหัวใจให้ไกลโรค
         
          ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงหรืออยู่ในวัย 35 ปีขึ้นไป ควรหมั่นพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองภาวะที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เพราะบางรายไม่แสดงอาการเตือนล่วงหน้าเลย ดังนั้นหากคัดกรองได้ทันท่วงที ก็จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
สำหรับทางที่ดีที่สุด ที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ แนะนำเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. งดบุหรี่ พฤติกรรมสำคัญที่ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย และเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  2. คุมอาหาร เน้นการรับประทานอาหารให้เป็นเนื้อขาวมากกว่าเนื้อแดง เช่น ปลา ไก่ มากกว่าเนื้อหมู เนื้อวัว เน้นผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยง อาหารประเภทไขมันสูง ส่วนอาหารที่ต้อง งด ก็คือไขมันทรานส์ โดยไขมันที่ควรใช้ในการปรุงอาหาร แนะนำให้เป็นไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไขมันจากพืช มากกว่าไขมันจากสัตว์
  3. คุมน้ำหนัก และคุมค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body Mass Index) ให้อยู่ประมาณ 20-25 BMI เพราะหากเกินกว่านั้นและอยู่ระหว่าง 25-29.9 จะบ่งบอกถึงภาวะน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ หากค่า BMI สูงตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ภาวะอ้วนจนถึงอ้วนอันตราย ถือเป็นดัชนีชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกในแบบ คาร์ดิโอ เช่นการเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อครั้ง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หากเป็นการออกกำลังกายแบบหนัก แนะนำให้ใช้เวลาประมาณ 75 นาทีต่อสัปดาห์
  5. ควบคุมไขมัน น้ำตาล ความดัน ให้อยู่ในระดับปกติ
  6. ตรวจสุขภาพประจำปี
  7. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า วัคซีนนี้มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้
         
         ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้การตรวจคัดกรองหัวใจ เมื่อรู้ถึงความผิดปกติหรือเมื่อมีความเสี่ยงแนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละครั้งเป็นการดูแลหัวใจให้แข็งแรงอยู่ด้วยกันต่อไปอีกนาน


ขอบคุณบทความดีๆ จาก
พญ. มนธวัล เวชอนันนุรักษ์
แพทย์เฉพาะทาง อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ประจำโรงพยาบาาลเปาโล รังสิต




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน