โรคยอดฮิตที่เกิดกับเด็กวัยเรียน
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
06-ม.ค.-2566
วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ต้องดูแลใส่ใจในเรื่องของสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะระบบภูมิต้านทานของเด็กๆ นั้น ยังไม่แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันไม่มากเท่ากับในผู้ใหญ่
 

เมื่อเด็กๆ ต้องอยู่กับกลุ่มเพื่อนในสถานอนุบาลหรือที่โรงเรียน ก็จะมีการเล่นและสัมผัสกันค่อนข้างมาก และยิ่งในช่วงที่อากาศเปลี่ยน ร่างกายของเด็กๆ จะอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโรค Covid-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ กันเป็นพิเศษ รวมถึงรู้จักโรคยอดฮิตเมื่อลูกรักเข้าสู่วัยเรียน เพื่อการป้องกันและรู้เท่าทันอาการ หากลูกป่วยหรือมีการติดเชื้อต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น




โรคโควิด-19

เป็นโรคติดเชื้อที่ทำลายระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีความสามารถในการกลายพันธุ์เพื่อหลบเลี่ยงภูมิต้านทาน ทั้งจากผู้ที่เคยรับเชื้อมาแล้วและจากวัคซีน แต่เนื่องจากเด็กที่อายุน้อยมากๆ หรืออายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่แนะนำให้รับวัคซีนต้านโควิด เนื่องจากต้องรอข้อมูลความปลอดภัยสำหรับเด็กให้มากกว่าที่มีอยู่ โชคดีที่ว่า ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อโควิด อาการมักไม่รุนแรง อย่างไรก็ดีการที่เด็กติดเชื้อก็เป็นการเพิ่มช่องทางการแพร่เชื้อไปยังผู้ที่อยู่รอบข้างได้

อาการที่พบในเด็กโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับไข้หวัด คือ มีไข้ มีน้ำมูกแต่ไม่มาก มีคัดจมูก เจ็บคอ ไอ มีเสมหะแต่ไม่มาก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ในบางรายอาการอาจรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาบ้าง และมักมีการติดเชื้อไปยังปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้ ดังนั้น หากเด็กมีประวัติเสี่ยงต่อการรับเชื้อและมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย หากพบว่าติดเชื้อจริงจะได้รับยาต้านเชื้อ หรือรักษาตามอาการอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้


ไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ยังคงเป็นโรคที่ไม่เคยตกกระแส อากาศที่เย็นลงและความชื้นในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น ยิ่งหากเป็นช่วงที่เด็กเปิดเรียนหรือต้องมีกิจกรรมที่มารวมกลุ่มกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อกระจายเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อเด็กๆ ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมักรับมาทางการหายใจ การสูดละอองฝอยจากการไอ จามของผู้มีเชื้อ หรือทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนน้ำลายหรือเสมหะของผู้มีเชื้อนี้ ก็จะส่งผลให้ในอีก 2-5 วันต่อมา จะเริ่มมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม คอแห้ง เจ็บคอ อาจมีไข้ต่ำถึงสูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หากอาการรุนแรงและลุกลามอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัดได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

ในระยะวันแรกๆ หากอาการทางกายได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หน้าแดง ปากแดง แสบคอ เด่นชัดมากกว่าอาการคัดจมูก มีน้ำมูก มักจะเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ แต่หากอาการทางกายน้อย แต่อาการเด่นๆ ที่ชัดกว่า คือ มีคัดจมูก น้ำมูกใส มักเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา



โรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ RSV

เป็นโรคที่มีอาการคล้ายหวัด คือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกใส เป็นอาการเด่นๆ อาจมีไข้บ้าง ส่วนอาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นกับระดับการลุกลามถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลมฝอยหรือปอด โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงมากๆ ได้ ได้แก่ อาการไข้สูง ไอมาก ไอแบบลึกๆ เครือๆ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย และหายใจลำบากในที่สุด

จะเห็นได้ว่า อาการไข้ ไอจาม มีน้ำมูก อาจจะทำให้แยกความแตกต่างของอาการไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไวรัส RSV และไข้ไวรัสโควิด-19 ได้ยาก การดูแลส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญที่การรักษาและให้ยาตามอาการเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ปกครองควรสังเกตว่า เด็กๆ มีอาการรุนแรงหรือไม่ เช่น มีอาการไข้สูง เหนื่อยหอบ หายใจเร็วและไอมากหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อใดๆ ก็ควรพาเด็กไปพบแพทย์ในทันที และที่สำคัญหากมีโรคประจำตัวที่ทำให้อาการรุนแรงได้ง่ายอยู่เดิมด้วยแล้ว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ก็ยิ่งไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือรอดูอาการ

โรคมือเท้าปาก
จะพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยอาการแสดงของโรคนี้คือ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 วันจะมีอาการเจ็บปาก เด็กจะไม่ยอมทานข้าว เพราะ ในปากจะมีตุ่มแดงที่จะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส แล้วจะแตกเป็นแผล ทำให้เจ็บทั้งที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และในคอ อาจเจ็บมากจนหุบปากไม่สนิท ทำให้มีน้ำลายไหล และจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า โดยอาจมีที่ขาหรือก้นร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการคัน

โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก ความสำคัญอยู่ที่อาการไข้สูงในวันแรกๆ และความเจ็บในปากจนทานได้น้อยหรือทานไม่ได้ของเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จึงกังวลใจ แต่หลัง 3-5 วันอาการจะค่อยๆ ทุเลา และหายเป็นปกติได้ใน 7-10 วัน ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าดูอาการเจ้าตัวน้อยอย่างใกล้ชิด ระวังเรื่องไข้สูงจนชัก หรือทานได้น้อยจนเด็กมีภาวะขาดน้ำหรือขาดสารอาหาร ดังนั้น หากลูกมีอาการมากควรพาไปพบแพทย์จะดีกว่า

สำหรับการดูแลลูกให้ห่างไกลจาก ปัญหาสุขภาพและโรคติดเชื้อต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างนิสัยด้านสุขอนามัยให้เด็กๆ ได้ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างระมัดระวัง เมื่อถึงวัยที่ฝึกได้ควรฝึกให้ล้างมือทุกครั้งหลังการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำ ลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ นอกบ้านด้วยมือ รักษาระยะห่างกับผู้คนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่เองต้องพยายามหลีกเลี่ยงการพาลูกไปคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงการให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนดที่ควรได้รับ พิจารณาให้วัคซีนเสริมต่างๆ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ วัคซีนมือเท้าปาก โดยปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาดยอดฮิตทั้งหลายเมื่อต้องไปโรงเรียน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกเด็ก 24 ชม.
โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
โทร. 02 818 9000  ต่อ 113