ความเสี่ยงของมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
28-มิ.ย.-2560
ระบบทางเดินอาหารของคนเรานั้น เริ่มต้นจากปากผ่านหลอดอาหารไปที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นเดียวกับตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี หากพูดถึงมะเร็งระบบทางเดินอาหารอาจกล่าวได้ว่า มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ ตำแหน่ง ด้านสาเหตุของมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด สำหรับปัจจัยเสี่ยงซึ่งอาจเป็นที่มานั้น ได้แก่ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก โดยได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น  ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหาร:เพศชายที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ผู้ที่มีน้ำหนักมาก และไขมันในร่างกายสูง ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร: ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่พบในเพศชายที่อายุมากกว่า 55 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ชอบรับประทานของหมักดอง ตากเค็ม รมควัน ได้รับเชื้อแบคทีเรียเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacterpylori) และอาชีพที่ต้องพบฝุ่นและสารเคมีบางชนิด สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่: ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านม เคยมีติ่งเนื้อ (Polyps) ในลำไส้ใหญ่ มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง อ้วน รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร แคลเซียม และโฟเลตน้อย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งทวารหนัก: อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีการติดเชื้อ human papillomavirus (HPV) มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก และผู้ที่สูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ: ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงมากกว่าคนที่ไม่เป็นพาหะ เป็นโรคตับแข็ง ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีเชื้อราบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง และผู้ที่สูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน: ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เป็นโรคตับอ่อนอักเสบ เบาหวาน และผู้ที่สูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งถุงน้ำดี:  มีประวัติเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดี มีความผิดปกติของถุงน้ำดี สูบบุหรี่ มีอาการของดีซ่าน และอ้วน เมื่อทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากมะเร็งระบบทางเดินอาหาร นอกจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงแล้ว อีกประการที่มีความสำคัญ คือการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ต้องลงลึกในการตรวจเพิ่มเติมเฉพาะจุด ด้วยเครื่องมือเฉพาะทางกับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพราะหากเกิดความผิดปกติ และสามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ตั้งแต่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง ย่อมส่งผลให้การรักษาได้ผลดีมากขึ้น ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2 โทร.02-2717000 ต่อ 10288-89