พ่อแม่เป็นมะเร็งตับ…ลูกอย่างเราจะเสี่ยงด้วยหรือเปล่า
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
06-ก.ค.-2560
สำหรับใครที่กำลังกังวลว่ามีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งตับ และตนเองอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับกับเขาด้วยหรือเปล่า เรามีคำตอบมาเคลียร์ให้หายข้องใจกัน

 อาการเริ่มต้นของ…มะเร็งตับ

ใครที่เคยละเลย คิดว่าร่างกายของเราไม่เห็นจะมีความผิดปกติตรงไหน ขอบอกเลยว่าคุณกำลังเข้าใจผิด เพราะโรคมะเร็งตับมักไม่ค่อยมีอาการ หรือสัญญาณเตือนให้รู้ตัวว่ากำลังโดนจู่โจมอยู่ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ อาการมักไม่ค่อยชัดเจน อาจมีแค่อาการอ่อนเพลีย เจ็บชายโครงขวา มีการไอที่สัมพันธ์กับการหายใจ บางรายอาจคลำเจอก้อนที่ชายโครงขวา แต่ในระยะหลังอาจมีไข้เรื้อรัง ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือคนที่เป็นตับแข็งอาจจะมีอาการขาบวม ท้องบวมร่วมด้วยก็ได้

ผิดปกติเพียงนิดเดียว…ก็ควรรีบไปตรวจเช็ค

เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกได้ถึงความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย เช่น จู่ๆ น้ำหนักลด เริ่มเบื่ออาหาร ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด เบื้องต้นแพทย์อาจทำการเจาะเลือดเพื่อดูสมรรถภาพของตับ หรือตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจ CT Scan ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI หรือบางคนอาจใช้การฉีดสีเข้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ เพื่อให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน แต่สิ่งสุดท้ายที่จะบอกได้ดีที่สุด นั่นก็คือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

รู้ตัว แก้ไข ปกป้องช้า…อาจได้แค่ยับยั้ง

หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป จนมะเร็งนั้นมีขนาดใหญ่ หรือลุกลามเข้าเส้นเลือดในตับ การแก้ไขในขั้นนี้ทำได้เพียงยับยั้งไม่ให้ลุกลาม ประคับประคองกันไป แต่วิธีการเยียวยาต้องขึ้นอยู่สมรรถภาพของตับ ตำแหน่ง และขนาดของมะเร็งประกอบการพิจารณาด้วย

มะเร็งตับ VS การส่งต่อทางพันธุกรรม

สำหรับลูกๆ คนไหนที่กำลังกังวลกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับกันอยู่ พันธุกรรมเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับเท่านั้น ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ว่านี้  คือ โรค Alpha1-antitrypsin (AAT) deficiency ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้โมเลกุลของเอ็นไซม์ AAT ที่ผลิตในตับผิดปกติ จนตับไม่ยอมปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด และ Hereditary Hemochromatosis หรือโรคที่ร่างกายมีภาวะธาตุเหล็กเกิน ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการดูดซับธาตุเหล็กมากเกินไป ส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ไม่ใช่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน