ผ่าตัดผ่านกล้อง “นิ่วในถุงน้ำดี” ทางเลือกใหม่ที่สบายตัวกว่า
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
10-เม.ย.-2567

            อวัยวะทุกส่วนย่อมมีหน้าที่การทำงานที่สำคัญเพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่ “ถุงน้ำดี” ก็มีหน้าที่สำคัญต่อระบบในร่างกายเช่นกัน เมื่อไหร่ที่ถุงน้ำดีมีปัญหาย่อมส่งผลกระทบปัญหาอื่นๆ ตามมา หากไม่รีบผ่าตัดรักษาก็อาจทำเกิดอันตรายได้!

เตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

          การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีนั้นเรียกได้ว่าแทบไม่ต่างกับการผ่าตัดทั่วไปคือ ควรงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่อย่างน้อย 48 ชั่วโมง พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ถ้าหากมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำให้นำยานั้นมาที่โรงพยาบาล แจ้งให้แพทย์และพยาบาลที่จะทำการผ่าตัดทราบเพื่อทางแพทย์จะได้วินิจฉัยว่าจะต้องทานยาหรืองดยานั้นๆ ก่อนการผ่าตัดหรือไม่

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบไหนดี ?
          โดยปกติแล้วการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำการรักษาได้ 2 แบบคือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) โดยการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องจะทำในกรณีที่ถุงน้ำดีมีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง ซึ่งแพทย์จะทำการเปิดแผลบริเวณท้องตำแหน่งใต้ชายโครงขวายาวประมาณ 10 ซม. ซึ่งแตกต่างกับการผ่าตัดแบบส่องกล้องคือจะผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ยกเว้นกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง เป็นหนองหรือ ในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย จะพิจารณาการผ่าตัดโดยการเปิดหน้าท้องแทน


ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว
         สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นแพทย์จะทำการเจาะบริเวณหน้าท้องเป็นรูเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5-2 ซม.จำนวน 3-4 รู จากนั้นจะสอดท่อที่มีไฟฉายและกล้องขนาดเล็กลงไป และส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ เพื่อให้แพทย์ทำการผ่าตัดผ่านจอโทรทัศน์อย่างแม่นยำ ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะทำให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย และใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันเท่านั้น



ปฏิบัติตัวอย่างไรหลังการผ่าตัด

- ควรงดรับประทานอาหาร 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานอาหารเหลวได้ทันทีวันรุ่งขึ้น
- ระมัดระวังห้ามให้แผลเปียกน้ำ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- งดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงจำพวกไขมันเนื้อสัตว์ที่ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ย่อยยาก

        เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังหายสม่ำเสมอ และต้องไม่ลืมที่จะตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี