โรคภูมิแพ้ / สารก่อภูมิแพ้  (Allergy)
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
28-ม.ค.-2565
โรคภูมิแพ้ / สารก่อภูมิแพ้ (Allergy)
สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) หมายถึงสารที่เข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาผิดปกติ จะมีอันตรายเฉพาะคนที่แพ้สารนั้นเท่านั้น ซึ่งอาการแพ้มีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้และลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล โดยแสดงอาการทางระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่จดจำสิ่งแปลกปลอม ที่จะเข้าสู่ร่างกายเราและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติเป็นโปรตีนเรียกว่า ไอ-จี-อี (IgE) และเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เข้าไปอีก สารก่อภูมิแพ้จะเข้าจับ ไอ-จี-อี (IgE) ซึ่งอยู่บนเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวนั้นแตกออก และปล่อยสารชนิดหนึ่งเรียกว่า ฮีสตามีน (Histamine) ออกมา ส่งผลต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบได้ เช่น ผิวหนัง ปอด จมูก ลำไส้ จะแสดงอาการ เช่น ลมพิษที่ผิวหนัง คัดจมูก แน่นหน้าอก เนื่องจากหอบหืด บางรายอาจจะรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้ (Anaphylaxis shock)






การแพ้อาหารนั้นพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การแพ้บางชนิดเกิดในวัยเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นอาการแพ้จะหายไป เช่นการแพ้นมวัวและไข่ การแพ้อาหารบางชนิดอาจจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่เท่านั้น

อาการของคนที่รับสารก่อภูมิแพ้ในร่างกายอาจทำให้มีอาการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ได้แก่
  • • คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
  • • จาม
  • • คันจนน้ำตาไหล
  • • อาการลมพิษ
  • • ท้องร่วง
  • • อาเจียน
  • • หายใจถี่ๆ
  • • ไอแห้งๆ เรื้อรัง
  • • หายใจมีเสียงดังวี้ดหรือเสียงผิดปกติ

เราจะตรวจหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้ได้อย่างไร
  1. Allergen Skin Pick Test การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (ใช้เข็มสะกิดผิวหนัง) ทำให้เป็นแผลแล้วหยดสารที่สงสัยว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) บนผิวหนัง รอดูผลซึ่งจะเกิดผื่นลมพิษบริเวณดังกล่าว ภายในเวลา 10-15 นาที
  2. การตรวจหา Specific IgE จากเลือด (ด้วยการเจาะเลือด) วิธีนี้คือการทดสอบหาปฏิกิริยา จำเพาะระหว่างสารภูมิต้านทานของร่างกาย IgE กับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) โดยการเจาะเลือดแล้วแยกน้ำเหลือง และทำการทดสอบกับสารภูมิแพ้ เพื่อจำแนกได้ว่าเกิดการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด

ข้อดีของการทดสอบวิธีนี้คือ ไม่ต้องได้รับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เข้าสู้ร่างกายเหมือนวิธีแรก จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและไม่มีข้อจำกัดเรื่องการตอบสนองของผิวหนังในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ และยังใช้เป็นหลักฐานในการติดตามการรักษาด้วยวิธีการปรับภูมิคุ้มกัน (ImmunoTherapy) ได้ด้วย




การเตรียมตัวก่อนรับบริการ

  1. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ควรสวมเสื้อที่ถอดง่าย สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน
  3. หากมีผลตรวจสุขภาพครั้งล่าสุดให้นำมาด้วย
  4. หากมียา วิตามิน หรือสมุนไพร ที่รับประทานเป็นประจำ ควรนำมาด้วยหรือจดบันทึก/ถ่ายรูปฉลากมาแทนได้
  5. ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร