ทำความรู้จัก นิ่วในถุงน้ำดี
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
21-ก.ย.-2564
ปัจจุบันพฤติกรรมของคนทำงานเปลี่ยนไป ทำงานหนัก มักชดเชยโดยให้รางวัลตัวเองด้วยการทานอาหาร บุฟเฟต์ ชาบู ปิ้งย่าง ฯลฯ โดยมองข้ามอันตรายจากการรับประทานอาหารที่ไขมันสูง ทำให้เกิดโรคที่พบกันมากขึ้น คือ “นิ่วในถุงน้ำดี”

ทำความรู้จัก นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี หรือ Gall Stone คือ ตะกอนที่เกิดจากการสะสมภายในถุงน้ำดี มีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่กว่านั้น ตะกอนเหล่านี้มีจำนวนมากและจะอุดตันอยู่ในถุงน้ำดี


ถุงน้ำดีมีหน้าที่ทำให้น้ำดีเข้มข้นและจะถูกขับออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร เพื่อดักจับไขมันเพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง จึงทำให้เกิดนิ่ว เมื่อการทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติ ส่งผลต่อระบบการทำงาน และหากนิ่วตกลงไปอุดตันในท่อน้ำดีใหญ่ อาจส่งผลทำให้ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายทำให้เสียชีวิตได้

นิ่วในถุงน้ำดีแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
  • ชนิดที่เกิดจากคอเรสเตอรอล พบได้มากที่สุดคือร้อยละ 80 ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะเป็นชนิดนี้ เกิดจากการมีคอเรสเตอรอลมากเกินไป จึงไปเกาะจับกันจนทำให้ถุงน้ำดีทำงานผิดปกติ
  • ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีบิลิรูบิน พบได้น้อยกว่าชนิดแรก โดยก้อนนิ่วจะมีขนาดเล็กกว่าชนิดคอเรสเตอรอลมักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของเลือด อย่างโรคโลหิตจาง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี สังเกตได้ว่า โรคนิ่วในถุงน้ำดีที่เป็นกันมากที่สุด มักเกิดจากคอเรสเตอรอล ที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสำคัญ และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย ได้แก่
  • ความอ้วน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสาเหตุของการทำให้คอเรสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มมากขึ้น
  • การทานอาหารไขมันสูง ชอบทานบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ฯลฯ เป็นสาเหตุของความอ้วน และนำไปสู่ภาวะคอเรสเตอรอลในน้ำดีสูง
  • ออกกำลังกายน้อย รับประทาน ผักและผลไม้น้อย
  • อายุ 40 ปี ขึ้นไป ระบบเผาผลาญในร่างกายที่แย่ลง ทำให้การสะสมคอเรสเตอรอลมีสูงขึ้น จึงเสี่ยงมากขึ้น
  • พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีเพิ่มมากขึ้น เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน มีส่วนในการเพิ่มปริมาณคอเรสเตอรอลในถุงน้ำดี
  • พบประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี เราก็จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น





สังเกตได้ อาการแบบเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่แสดงอาการน้อยมากในช่วงแรก ส่วนใหญ่แล้วจะรู้ว่าป่วยก็เมื่อได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด แต่เราสามารถประเมินอาการเบื้องต้นที่เกิดขึ้นได้ว่า ร่างกายเราได้ส่งสัญญาณของการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี เช่น
  • คลื่นไส้ อาเจียน บ่อยๆ
  • มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • รู้สึกแสบร้อนที่อก มีลมในกระเพาะอาหาร
  • หลังรับประทานอาหารมันๆ มักมีอาการเสียดท้อง แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา โดยปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ในรายผู้ป่วยที่ถุงน้ำดีอักเสบ อาจมีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงด้านขวา
  • บริเวณตำแหน่งของถุงน้ำดี และอาจมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง ร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัย
  • ซักประวัติ และอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่แพทย์ จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคร่วมและการตรวจได้ผลแม่นยำ
  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เพื่อดูการทำงานของตับว่ามีการติดเชื้อ หรือมีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วยหรือไม่
  • เมื่อแพทย์บ่งชี้ว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ซึ่งจะทำให้ทราบผลได้ชัดเจน
  • หากมีนิ่วหลุดไปในท่อน้ำดีด้วย แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดี เพื่อเอกซเรย์ดูว่าในท่อน้ำดีมีนิ่วหรือไม่
  • ถ้ามีอาจจะรักษาด้วยวิธีการคล้องนิ่วในท่อน้ำดีออก การตรวจวินิจฉัยจะทำโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน สามารถมองเห็นก้อนนิ่วได้อย่างชัดเจน และทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น
  • การผ่าตัดแบบเดิม แบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) จะเป็นการผ่าตัดที่สร้างความบอบช้ำและเสียเลือดมาก อาจเกิดภาวะเสี่ยง และพักฟื้นนานการผ่าตัด ปัจจุบันจะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบมากหรือถุงน้ำดีแตกทะลุในช่องท้อง

การผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดี (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นอีกหนึ่งทางเลือก จะช่วยลดความเสี่ยงและความกังวลใจ เพราะเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลเล็ก ที่เกิดการเจาะรูเล็กๆ ขนาดไม่ถึง 1 ซม. รวม 3 จุด ทำให้เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็วเพียงแค่ 1- 2 วันก็สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี


เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องแล้ว ควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารจำพวกผัก ปลา มากขึ้น เพื่อลดของมัน ลดคอเรสเตอรอล ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี