เบาหวานขึ้นจอตา
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
07-พ.ย.-2564
เบาหวานขึ้นจอตา ควรดูแลตนเองให้ดี ก่อนสูญเสียการมองเห็น  เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย ในปัจจุบันพบผู้ป่วยเบาหวานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประชากรไทยพบผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 3.2 ล้านคน  จำนวนผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี

เบาหวานเข้าจอประสาทตา ( Diabetic Retinopathy )
เบาหวานเข้าจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) หรือเรียกง่ายๆ ว่าเบาหวานขึ้นตา คือภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ส่งผลให้เกิดอาการตามัว ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานขึ้นตา มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินเกณฑ์จากการคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี และระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นเบาหวานนานหลายปี โอกาสที่เบาหวานจะขึ้นตาก็มีมากตามไปด้วย


ระยะของเบาหวานขึ้นตา :
เบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรค ได้แก่
  1. เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา ทำให้เกิดจอตาบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หากเกิดหลอดเลือดรั่วบริเวณจุดภาพชัด (Macula) จะทำให้เกิดจุดภาพชัดบวม (Macular Edema) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น หากมีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
  2. เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มีการขาดเลือดที่จอตามากจนเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal Detachment) ตามมาได้ หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตาและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหิน (Neovascular Glaucoma) ได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานขึ้นจอตา
ปัจจัยที่มีผลต่อการมีเบาหวานขึ้นจอตา มากหรือน้อย มีดังนี้
  1. ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นเบาหวานมานาน ยิ่งมีโอกาสพบมีเบาหวานขึ้นจอตาได้บ่อยและรุนแรงมากขึ้น
  2. การคุมระดับน้ำตาล ยิ่งคุมได้ดี ยิ่งลดโอกาสเกิดและลดความรุนแรงของเบาหวานขึ้นจอตา
  3. การมีไตวายจากเบาหวาน เป็นตัวบ่งชี้ว่าน่าจะมีเบาหวานขึ้นจอตาด้วยเช่นกัน การรักษาโรคไตมีส่วนช่วยให้เบาหวานขึ้นจอตาดีขึ้น
  4. ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดของจอตา ซ้ำเติมภาวะเบาหวานขึ้นจอตามากยิ่งขึ้น
  5. การมีไขมันในเลือดสูง การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอาจช่วยลดการรั่วของไขมันสะสมที่จอตาได้
  6. ผู้หญิงที่มีเบาหวานและมีการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดเบาหวานขึ้นจอตาได้ หรือทำให้เบาหวานขึ้นจอตาที่มีอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้นได้


การตรวจตาโดยจักษุแพทย์
การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ จะเริ่มจากการซักประวัติ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ประวัติการคุมเบาหวาน โรคประจำตัวอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ประวัติเบาหวานในครอบครัว อาการที่นำมาพบแพทย์ หลังจากนั้นจึงตรวจการมองเห็น ตรวจส่วนหน้าของตา และวัดความดันลูกตาแล้ว จะต้องมีการขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างละเอียด เพื่อตรวจดูว่ามีเบาหวานขึ้นจอตาหรือไม่  การขยายม่านตามักทำให้มีอาการตามัวประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเองในช่วงเวลาดังกล่าว และควรพาญาติไปด้วย

ผู้ที่เป็นเบาหวานเมื่อไรควรได้รับการตรวจตา?
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งยาฉีดอินซูลิน ควรได้รับการตรวจตาทันทีที่ทราบว่าเป็นเบาหวาน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน ในระยะ 5 ปีแรกอาจยังไม่จำเป็นต้องตรวจตา (แต่จะตรวจก็ได้) ถ้าผลการตรวจครั้งแรกพบว่าเบาหวานยังไม่ขึ้นตา ควรตรวจซ้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้าพบมีเบาหวานขึ้นจอตาแล้ว อาจจำเป็นต้องตรวจบ่อยขึ้น เช่น ทุก 3-6 เดือน แล้วแต่ความรุนแรง

การป้องกันเบาหวานไม่ให้ขึ้นตาหรือชะลอความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา
  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ได้แก่ ค่าน้ำตาลสะสมหรือ Hemoglobin A1C ไม่ควรมีค่าเกิน 7%
  2. หากมีโรคอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง ควรคุมค่าความดันโลหิตและค่าไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคู่ไปกับการคุมเบาหวาน จะช่วยชะลอความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตาได้
  3. หมั่นตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจาก หากพบเบาหวานขึ้นตาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลการรักษาจะดีกว่าเจอโรคในระยะรุนแรงแล้ว
เนื่องจากการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินของโรคในระยะยาว การตรวจน้ำตาลในกระแสเลือดเป็นการตรวจหาน้ำตาลในขณะนั้นและมีการแปรปรวนได้มาก ในปัจจุบันมีการตรวจหา Hemoglobin A1c ซึ่งเป็นการตรวจค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าปกติของคนที่ไม่เป็นเบาหวานอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้ดีควรอยู่ต่ำกว่า 7 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากค่า Hemoglobin A1c มากกว่า 8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะต้องเปลี่ยนแปลงการรักษา เช่น ยา การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด


ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
แผนกอายุรกรรม 02 818 9000  ต่อ 130 , 131