โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
21-ก.พ.-2566
การแต่งงานหรือการมีชีวิตคู่นั้น เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อชีวิตของทั้งสองฝ่าย เพราะก่อนแต่งงาน ต่างฝ่ายต่างเคยใช้ชีวิตตามวิถี ที่ตนเองพอใจมาโดยตลอด เมื่อตกลงปลงใจในชีวิตคู่ร่วมกัน จึงจำเป็นต้องวางแผนหาแนวทาง รวมถึงความมั่นคงในอนาคตร่วมกัน ก่อนวางแผนมีบุตร

การเช็กความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตคู่  เพราะหากฝ่ายใดสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม มีโรคประจำตัว จะได้วางแผนการรักษาหรือหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ถูกทาง






เหตุผลที่จำเป็น "ตรวจก่อนแต่ง"
  1. รู้ก่อนป้องกันก่อน ก่อนส่งผ่านโรคสู่คนที่เรารัก โรคปัจจุบันมีมาก ทั้งการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และผ่านทางเลือด บางโรคอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดในระยะแรก ๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ หรือเอดส์
  2. พร้อมเป็นคุณแม่มือใหม่ที่สมบูรณ์  ปัจจุบันสาวๆ ยุคใหม่  มักทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่งงานช้าลงและตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อภาวะแท้ง ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ
  3. เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค บางโรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หากฝ่ายหญิงหรือชาย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคทางพันธุกรรม โอกาสที่โรคเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดมาสู่ลูกน้อยได้เช่นกัน
  4. ตรวจหาโรคประจำตัว ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงของโรคมากขึ้น หากมีการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น  แพทย์จะช่วยให้คุณวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

ควรตรวจอะไรบ้าง?
  1. กลุ่มเลือด (Blood groub) เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นเลือดกลุ่ม A,B,AB และ O
  2. ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hematocrit,Hemoglobin) เพื่อดูว่ามีโลหิตจางหรือไม่ หากมีภาวะโลหิตจาง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุต่อไป
  3. ซิฟิลิส (Syphilis) หรือที่นิยมเรียกว่า เลือดบวก จัดว่าเป็นกามโรคชนิดหนึ่ง อาจไม่เคยมีอาการใดๆ เลยก็ได้ แต่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจเลือด
  4. "เริม" โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ ยังไม่มียาขนาดใดที่จะรักษาเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสให้หายขาดได้
  5. ตับอักเสบไวรัสบี (HbsAg,Ab)
    • หากพบว่า มีเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็จะได้ดูแลตนเอง และป้องกันมิให้แพร่เชื้อกระจาย
    • หากพบว่า ไม่เคยได้รับเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็ควรฉีดวัคซีนตับอักเสบไวรัสบี
    • หากพบว่า มีภูมิคุ้มกันแล้วก็จะเกิดความสบายใจได้
  6. เชื้อไวรัสเอดส์ (AIDS-HIV) สำหรับการตรวจหาเชื้อเอดส์นี้แล้วแต่ความสมัครใจของคู่สมรสว่าต้องการตรวจหรือไม่ แต่คนที่รู้ตัวว่าอยู่กลุ่มเสี่ยง (หญิงอาชีพพิเศษ พวกรักร่วมเพศ) ก็ควรที่จะตรวจไว้ก่อนดีกว่า นั่นเพราะทุกคนทราบดีว่ามัจจุราชที่มีชื่อ ว่า “เอดส์” นั้น น่าสะพรึงกลัวเพียงใด ไม่ว่าจะร่วมเพศร่วมเลือดกับใครที่มีเชื้อเอดส์นี้ คุณก็มีโอกาสเป็น “สมาชิกใหม่” ได้ทั้งนั้น
  7. ตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะทำการวัดความดันเลือด เอกซเรย์ปอด (แต่ไม่จำเป็นหากไม่มีประวัติเกี่ยวกับโรคปอดของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด) และตรวจหาโรคบางอย่างที่สงสัยหรืออาจจะเป็นเฉพาะราย เช่น โรคทางพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย คือ ธาลัสซีเมีย และปัญญาอ่อน (ดาวน์ซินโดรม)

โรคติดต่อที่คู่รักต้องระวัง!
  • หนองในเทียม เกิดจากการอักเสบของท่อปัสสาวะ มีอาการแสบและมีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ
  • เริม  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทำให้เกิดตุ่มใสขึ้นที่บริเวณต่าง ๆ เช่น ปาก อวัยวะเพศ เป็นต้น เมื่อตุ่มแตกจะทำให้เกิดแผลและเกิดความเจ็บปวด โรคนี้มักหายเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรงควรเข้าพบแพทย์
  • หูดหงอนไก่ เป็นโรคที่พบได้มาก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ในระยะแรกอาจจะไม่พบอาการเลยเพราะมักจะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อไปเป็นเวลานาน โดยอาการที่แสดงออกมานั้นจะมีเนื้องอกเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ การรักษาเบื้องต้นจะเป็นการทายา แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะทำการผ่าตัด
  • ซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักพบบาดแผลริมแข็งขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก การรักษาเบื้องต้นจะเป็นการรับประทานยาปฏิชีวนะ


เสริมเพิ่มเติมความมั่นใจให้กับคู่รัก ชวนกันไปตรวจสุขภาพ เพื่อสร้างความอุ่นใจ ความมั่นใจ ในการเริ่มต้นชีวิตคู่ไปด้วยกัน ควรตรวจอัพเดทสุขภาพเป็นระยะ ได้เท่าที่ต้องการ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลง 

การตรวจสุขภาพคู่รัก สามารถตรวจได้ทั้งคู่รักที่เพศเดียวกันและต่างเพศ


แผนกตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
02 818 9000  ต่อ 113