ข้อเข่าเสื่อม  เป็นได้.. ไม่ต้องรอแก่
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
15-เม.ย.-2565
โรคข้อเข่าเสื่อมหรือข้อเข่าอักเสบ เป็นผลมาจากข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย เพราะอายุที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนกำลังลดลง และในเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหมดประจำเดือน โรคเข่าเสื่อม ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ที่สูงอายุเท่านั้น แต่ปัจจัยการใช้ชีวิตบางอย่าง ก็สามารถทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ในคนอายุน้อยๆ ได้เช่นกัน

ข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าวัย ก็ควรดูแลปัญหาสุขภาพข้อเข่า และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม ก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตั้งแต่เนิ่นๆโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการก่อน

ลักษณะโรคข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมอย่างช้าๆ เกิดจากผิวของข้อเข่าซึ่งเป็นกระดูกอ่อนเริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบเกิดการเสียดสีระหว่างข้อส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงข้อไม่สามารถหล่อลื่นข้อได้เหมือนเดิม ข้อจึงมีอาการติดขัด ฝืด ตึง การรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อเริ่มผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด จนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ข้อเข่าเสื่อม


“โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปนอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในกลุ่มคนอายุน้อย เช่น ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อ กระดูกแตก มีภาวะของโรคบางชนิด เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ เป็นต้น 
อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ ท่าทางหรือการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ จะเกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนของข้อเข่า และการเล่นกีฬาผาดโผน เช่น วิ่ง กระโดด จะทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป ” 



ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม
  • อายุ : อายุมากมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน
  • เพศ : เพศหญิงเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
  • น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า
  • พฤติกรรม : ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ
  • เล่นกีฬาที่มีการกระแทก : มักเกิดการปะทะบริเวณหัวเข่า ทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • อุบัติเหตุ : ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุมีการกระแทกที่ข้อเข่า หรือกระดูกข้อเข่าแตก เอ็นฉีก ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ:  เช่น รูมาตอยด์ เกาต์  มักมีอาการปวดอักเสบบริเวณข้อเข่า

สัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • ได้ยินเสียงดังในเข่า
  • ข้อเข่าฝืดแข็ง เหยียดหรืองอเข่าลำบาก
  • ปวดเสียวภายในข้อเข่า
  • งอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าติดแข็ง
  • กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง เมื่อยง่าย ปวดเข่าตอนเคลื่อนไหว

อาการสำคัญของ โรคข้อเข่าเสื่อม

ในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อเข่าเล็กน้อย มีข้อฝืดขัด เมื่อขยับมีเสียงดัง พอขยับหรือเดินก็จะปวดมากขึ้น แต่จะทุเลาลงเมื่อได้พักขา อาการปวดจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การเหยียดเข่าหรืองอเข่าเริ่มทำได้ไม่สุดเพราะมีการยึดติดของข้อเข่า มีอาการเข่าหลวมทำให้เดินล้มบ่อย มีเสียงดังกรอบแกรบในเข่าซึ่งเกิดจากการเสียดสี เข่ามีรูปร่างผิดปกติ โก่งงอผิดรูป อาจโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน หากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • มีอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือบวมแข็งที่ข้อต่อเข่า
  • มีอาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม เจ็บปวดบริเวณข้อต่อเข่าอย่างรุนแรง  
  • มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
  • ข้อเข่ายึดติด ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุด งอหรือเหยียดเข่าลำบาก



ข้อเข่าเสื่อม


การวินิจฉัย โรคข้อเข่าเสื่อม
แพทย์จะประเมินจากประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ตรวจดูรูปร่างของเข่า ลักษณะกล้ามเนื้อขาและรอบเข่า สังเกตอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ดูการเคลื่อนไหวของข้อ การงอ การเหยียด และฟังเสียงกรอบแกรบ ร่วมกับการทำเอกซเรย์ CT scan หรือ MRI ร่วมด้วย


การดูแลและบรรเทาอาการ โรคข้อเข่าเสื่อม

การรักษาโรคเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ระยะของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ชะลอการดำเนินโรค ฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้ การรักษาโดยไม่ใช้ยา แพทย์จะให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยพยายามลดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เข่าเสื่อมลุกลาม เน้นการออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า

การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่า เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของข้อเข่า รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนัก หรือใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาร่วมกับผู้ป่วย และเลือกทางที่ดีที่สุด
การรักษาโดยยา  แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะ ประเภทที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละราย ในปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม ได้แก่
  • ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
  • ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกสำหรับข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น
  • ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
  • การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
  • การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น


ส่องกล้องข้อเข่าเสื่อม

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

  • การผ่าตัดกล้องส่องข้อเข่า (Arthroscopic Surgery) หรือการผ่าตัดส่องกล้องรักษา ข้อดีคือการผ่าตัดภายในข้อ โดยใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อนำภาพภายในข้อมายังจอรับภาพ เพื่อแพทย์จะได้เห็นสภาพในข้อเข่าได้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กเท่าปากกาสอดเข้าไปในข้อเพื่อทำการผ่าตัด แผลที่ข้อขนาดเล็กเพียง 0.5 ซม. 2 แผล ทำให้ลดการบาดเจ็บ พักรักษาน้อย ฟื้นตัวเร็ว
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)  ในกรณีที่โรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง หรือ ผ่านการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายบริหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับของข้อ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถทำได้หลายวิธี 

ฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เป็นอีกทางเลือก ที่น่าสนใจ


ข้อเข่ามีเสียง ปวดตึง  เพราะอาจเป็นภาวะน้ำไขข้อแห้ง  น้ำไขข้อหรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าน้ำในข้อเข่า ทำหน้าที่หล่อลื่นภายในข้อเข่าเพื่อลดการเสียดสีและลดแรงกระแทก ช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดแรงกดของผิวกระดูกข้อเข่าขณะเดินหรือวิ่ง

นอกจากการผ่าตัดแล้ว การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม น้ำเลี้ยงข้อจะมีความผิดปกติ คือ มีความเข้มข้นและความยืดหยุ่นลดน้อยลง เนื่องจากสาร Hyaluronic เสื่อมคุณภาพ ซึ่งการฉีดยาเข้าไปจะส่งผลให้ข้อเข่าลื่น ลดการเสียดสีที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้


ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
โทร. 02 818 9000