กระดูกพรุน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
14-ธ.ค.-2566
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ ภาวะที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ซึ่งลดลงมากจนถึงขั้นวิกฤต จนส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงมีความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหักได้ง่าย

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน
  1. ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (อายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป)
  2. ผู้หญิงที่เคยได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างก่อนหมดประจำเดือน
  3. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  4. ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  5. ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือยากดฮอร์โมนเป็นเวลานาน
  6. ผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ เพราะหากมีภาวะกระดูกพรุน อาจเสี่ยงต่อกระดูกหักแม้การกระแทกเพียงเล็กน้อยได้




การป้องกันภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ ที่เป็นผลกระทบมาจากภาวะกระดูกพรุน

ร่างกายของเราจะมีกลไกการสลายกระดูกบางส่วนที่สึกหรอทิ้งไปและเสริมสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนหมุนเวียนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายได้สูญเสียสมดุลตรงนี้ไป เช่น มีการสลายตัวของกระดูกมากกว่าการสร้างขึ้นใหม่ หรือมีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป ก็จะส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกระดูกพรุน และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน นั่นเอง เช่น เพียงแค่การล้มเบาๆ ก็ทำให้ผู้สูงอายุกระดูกแตกหรือหักได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าเคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะเกิดกระดูกหักที่จุดอื่นๆ ได้อีก ดังนั้นการตรวจเช็กความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นประจำทุก 1-2 ปี จึงมีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหัก และรักษาภาวะกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น



โรคกระดูกพรุนไม่ได้ทำให้เจ็บปวด…แต่ก็ไม่ควรวางใจ

โรคกระดูกพรุน แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้ทำให้มีอาการด้วยตัวเอง ยกเว้นอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกพรุนขั้นรุนแรง และมักรู้เมื่อเกิดล้มเพียงเล็กน้อยแล้วกระดูกหัก จึงถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากไม่แสดงอาการให้รู้จนกระทั่งกระดูกแตกหรือหักไปแล้วจนต้องเข้ารักษาตัวเป็นเวลานาน เมื่อตรวจวินิจฉัยจึงพบว่าเกิดจากโรคกระดูกพรุน

การรักษาภาวะกระดูกพรุน ทำอย่างไร?
หากตรวจพบว่ามีภาวะกระดูกพรุนจะมีแนวทางรักษาหลักๆ คือ การยับยั้งการสลายกระดูกโดยมีทั้งรูปแบบยากิน และการฉีดยารักษา ควบคู่ไปกับการเสริมแคลเซียมให้ร่างกาย ดังนั้นการดูแลร่างกายตัวเองให้มีมวลกระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นเสริมอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี เช่น ผัก ปลาเล็กปลาน้อยเพื่อบำรุงกระดูก หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม ออกรับแดดอ่อนๆ ยามเช้าเพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรงจึงเป็นการช่วยซัพพอร์ตแรงกระแทกทำให้กระดูกไม่หักเวลาหกล้มได้ดี นอกจากนี้การตรวจเช็กความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นประจำ ที่จะช่วยให้รู้อาการก่อนล่วงหน้า ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
เพิ่มเพื่อน