ฟื้นฟูสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Brain Stimulation)
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
20-ก.ค.-2564
 การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยใช้เครื่องกระตุ้นระบบ ประสาทด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดความถี่สูงกระตุ้นผ่านสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อาการซึมเศร้า และอาการทางจิตเวชอื่นๆ
ประโยชน์ของการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
     ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ สามารถใช้เป็นการรักษาหลัก หรือการรักษาร่วมกับการรักษาอื่น เช่น การใช้ยาทางจิตเวช หรือจิตบำบัด เป็นต้น มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา
     กระบวนการการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำโดยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณสมองส่วนหน้า ในแต่ละครั้งจะกระตุ้นผ่านหมวกปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะ โดยจะกระตุ้น 2 วินาทีและเว้นพัก เป็นระยะเวลา 20 วินาที จึงกระตุ้นซ้ำต่อเนื่องไป 20 - 30 นาที ผลการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับจำนวนครั้งสะสมของการกระตุ้น แต่เนื่องจากสามารถกระตุ้นได้จำกัดในแต่ละวันจึงจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 10 - 15 วัน หรือเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ (ความถี่ และระยะเวลาในการกระตุ้นอาจขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย)
     ก่อนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจำเป็นต้องประเมินระดับอาการของผู้ป่วยเพื่อติดตามการรักษาระหว่าง และหลังการรักษา อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยยังมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้อยู่ เช่น การรับการรักษาไม่ต่อเนื่องตามที่ กำหนด หรือการใช้สารเสพติดร่วมด้วย เป็นต้น

ขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • ค้นหาตำแหน่งที่ตอบสนองดีที่สุด และค่าความแรงต่ำที่สุดในการกระตุ้นโดยดูการตอบสนองที่มือขวาของผู้ป่วย
  • สวมใส่หมวกอุปกรณ์ให้ตรงตามตำแหน่งที่ใช้ในการกระตุ้น
  •  ทดสอบการกระตุ้นโดยดูการการตอบสนองของผู้ป่วย
  • ทำการกระตุ้นตามแนวทางที่กำหนด

ข้อควรคำนึงในการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ติดตั้งอยู่ที่ศีรษะ หรือบริเวณร่างกายระยะห่างจากหมวกอุปกรณ์น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
  • มีวัสดุโลหะฝังอยู่ในร่างกาย หรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะใกล้กับบริเวณศีรษะ
  • มีประวัติโรคลมชัก หรือ โรคลมชักที่ยังคุมอาการไม่ได้
  • มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะเลือดออกในสมอง หรือหลอดเลือดสมองตีบที่อาการยังไม่คงที่
  • มีไข้ หรือมีการติดเชื้อต่างๆ
  • สัญญาณชีพผิดปกติ หรือระดับความรู้สึกตัวลดลง

ภาวะแทรกซ้อน และความเสี่ยงจากการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุกบริเวณศีรษะ และใบหน้า ในระหว่างการกระตุ้นหากมีอาการรู้สึกไม่สบายตัวหรือผิดปกติควรแจ้งให้แพทย์ และเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องมือทราบโดยด่วน
  • อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน หลังการกระตุ้น อาการมักเป็นเล็กน้อยและมีอาการเพียงชั่วคราว
  • อาจเกิดอาการรำคาญหรือไม่สบายที่ศีรษะขณะที่กระตุ้นและถูกรบกวนด้วยเสียงดังขณะทำการกระตุ้น
  • อาจทำให้เกิดอาการชัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยา และอาหารเสริมที่รับประทานอยู่

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มี Alcohol ในคืนก่อนทำการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มี Caffeine ก่อนการรักษาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ตรวจวัดไข้ และสัญญาณชีพอื่นๆ ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง
  • หากมีอาการเจ็บป่วยอื่นหรือมียารับประทานเพิ่มเติมจากเดิมจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง

คำแนะนำหลังการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
     การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกครั้งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และง่วงนอนหลังการกระตุ้น ควรนั่งพัก และดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการขับรถ หากจำเป็นควรขับขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และขับขี่เมื่อรู้สึกพร้อม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร.0-2271-7000 ต่อ Let's talk
(เบอร์ตรง Let's Talk) 0-2271-7244